การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงินของโครงการ
 


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงินเพื่อจัดลำดับความสำคัญในการตัดสินใจลงทุน รวมทั้งเพื่อให้การตัดสินใจลงทุนมีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยเครื่องมือทางการเงินเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ โดยมีการจัดทำประมาณการกระแสเงินสดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตก่อน แล้วนำมาคำนวณผ่านเครื่องมือต่างๆที่สำคัญ ได้แก่ 

 1. ระยะเวลาคืนทุน (Payback Period: PB)

 2. มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV)

 3. อัตราผลตอบแทนคิดลด (Internal Rate of Return: IRR)

 4. อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน (B/C ratio)


ระยะเวลาคืนทุน (Payback Period: PB) หมายถึง ระยะเวลาของการลงทุนที่กระแสเงินสดรับสุทธิจากโครงการเท่ากับกระแสเงินสดจ่ายสุทธิพอดี หรือกล่าวได้ว่าการลงทุนไม่มีกำไรและไม่ขาดทุนนั่นเอง ระยะเวลาคืนทุนเป็นเครื่องมือในการประเมินความเป็นไปได้ของการลงทุนอย่างง่ายและไม่ซับซ้อน เป็นการประเมินคร่าวๆและรวดเร็วเหมาะกับเม็ดเงินลงทุนจำนวนไม่มาก อย่างไรก็ตามการคำนวณระยะเวลาคืนทุนมีจุดอ่อนตรงที่ไม่ได้นำเรื่องค่าของเงินตามเวลามาพิจารณาและไม่ให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดที่ได้รับภายหลังระยะเวลาคืนทุน ทำให้อาจเกิดการตัดสินใจเลือกโครงการลงทุนที่ผิดพลาดได้ ดังนั้นในบางกรณีอาจแก้ปัญหาโดยนำกระแสเงินสดมาปรับลดด้วยอัตราคิดลด ซึ่งเป็นการสะท้อนมูลค่าเงินตามเวลาก่อน แล้วค่อยนำมาคำนวณหาระยะเวลาคืนทุน หรือที่เรียกว่า ระยะเวลาคืนทุนแบบคิดลด (discount payback period : DPB)

Mobirise
Mobirise

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่าในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ได้รับเงินมา 100,000 + 130,000 + 250,000 รวมเป็น 480,000 บาท และในปีที่ 4 หากได้รับอีก 120,000 บาท ก็จะรวมเป็น 600,000 บาท ซึ่งเท่าทุนพอดี ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าในปีที่ 4 นั้นใช้เวลาในการได้เงิน 120,000 บาทเพียงครึ่งปีกว่าๆ หรือ คำนวณจาก 120,000 ÷ 200,000 จะเท่ากับ 0.6 ระยะเวลาคืนทุนจึงเท่ากับ 3.6 ปี

โดยทั่วไปเกณฑ์ตัดสินใจว่าจะลงทุนหรือไม่นั้นจะพิจารณาจากระยะเวลาคืนทุนที่คำนวณได้เปรียบเทียบกับระยะเวลาที่ยอมรับได้ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละโครงการขึ้นอยู่กับว่าโครงการนั้นๆมีความต้องการเงินต้นคืนกลับมาในช่วงเวลาใด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าระยะเวลา 5 ปี คือระยะเวลาที่โครงการต้องการเงินต้นกลับคืนมา การตัดสินใจจะเป็นดังนี้
     -  หาก ระยะเวลาคืนทุน ≤ 5 ปี ก็ตัดสินใจลงทุน
     -  หาก ระยะเวลาคืนทุน > 5 ปี ก็ตัดสินใจไม่ลงทุน

วิธีการคำนวณระยะเวลาคืนทุนนี้ เป็นการพิจารณาอย่างคร่าวๆและมีความสะดวกในการเปรียบเทียบหรือจัดลำดับโครงการโดยเฉพาะโครงการขนาดเล็ก การคืนทุนเร็วจะช่วยให้โครงการมีสภาพคล่องดีขึ้นและมีความเสี่ยงน้อยลง แต่ก็มีจุดอ่อนตรงที่ไม่ได้นำเรื่องค่าของเงินตามเวลามาพิจารณาและไม่ให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดที่ได้รับภายหลังระยะเวลาคืนทุน

มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV) คือ ผลต่างระหว่างมูลค่าปัจจุบันรวมของกระแสเงินสดรับสุทธิตลอด อายุโครงการกับมูลค่าปัจจุบันของเงินลงทุน โดยใช้อัตราคิดลด (discount rate) ตัวใดตัวหนึ่งมาปรับมูลค่าของกระแสเงินสดที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาให้มาอยู่ที่จุดเดียวกัน คือ ณ ปัจจุบัน วิธีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ หรือ NPV นับเป็นเครื่องมือในการประเมินความเป็นไปได้ของการลงทุนที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีการนำเรื่องค่าของเงินตามเวลามาร่วมพิจารณา และเป็นการคำนวณกระแสเงินสดที่เกิดขึ้นตลอดอายุโครงการ

เกณฑ์การตัดสินใจสำหรับวิธีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ คือ ถ้ามูลค่าปัจจุบันสุทธิที่คำนวณได้ของโครงการมีค่ามากกว่า 0 ก็ตัดสินใจลงทุนหรือยอมรับโครงการนั้น หากมูลค่าปัจจุบันสุทธิมีค่าน้อยกว่า 0 หรือ มีค่าเป็นลบก็ไม่ลงทุนในโครงการดังกล่าวเนื่องจากไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน สำหรับในกรณีที่มีโครงการลงทุนที่น่าสนใจมากกว่า 1 โครงการ จะต้องจัดอันดับโครงการโดยเรียงลำดับตามมูลค่าปัจจุบันสุทธิที่คำนวณได้จากค่ามากไปหาค่าน้อย

 อัตราผลตอบแทนคิดลด (Internal Rate of Return: IRR) คือ อัตราคิดลด (discount rate) ที่ทำให้มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดรับสุทธิตลอดอายุโครงการเท่ากับเงินสดจ่ายลงทุนสุทธิพอดี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ อัตราคิดลดที่ทำให้มูลค่าปัจจุบันสุทธิของโครงการเท่ากับศูนย์ เป็นอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากการลงทุนตลอดอายุโครงการนั่นเอง ในทางปฎิบัติ IRR นิยมนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินโครงการอย่างแพร่หลาย เนื่องจากวิธี IRR นี้มีการแสดงค่าผลตอบแทนเป็นร้อยละ ซึ่งทำให้เข้าใจง่ายและมีความสะดวกในการเปรียบเทียบระหว่างโครงการต่างๆที่เป็นทางเลือกของการลงทุนที่มีอยู่ขณะนั้น

สำหรับเกณฑ์ตัดสินใจว่าจะลงทุนหรือไม่นั้นจะพิจารณา ดังนี้
     -  หาก IRR > ต้นทุนเงินทุน (cost of capital) ของโครงการ ก็ตัดสินใจลงทุน
     -  หาก IRR < ต้นทุนเงินทุน (cost of capital) ของโครงการ ก็ตัดสินใจไม่ลงทุน

อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน (B/C ratio) คือ อัตราส่วนระหว่างมูลค่าปัจจุบันสุทธิของกระแสเงินสดที่ได้รับตลอดอายุโครงการกับเงินลงทุนเริ่มแรกของโครงการนั้น เป็นการเปรียบเทียบระหว่างผลตอบแทนในรูปของกระแสรายได้ที่เกิดขึ้นในอนาคตตลอดอายุโครงการที่มีการปรับค่าให้เป็นมูลค่าปัจจุบันแล้วกับเงินลงทุนเริ่มแรกของโครงการที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

สำหรับเกณฑ์การตัดสินใจของวิธีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน คือ หากค่าอัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนที่คำนวณได้ของโครงการมีค่ามากกว่า 1 ก็ตัดสินใจลงทุนหรือยอมรับโครงการนั้น เนื่องจากโครงการจะได้รับผลตอบแทนจากกระแสเงินสดรับทั้งหมดในรูปมูลค่าปัจจุบันสูงกว่าเม็ดเงินที่ลงทุนไปนั่นเอง อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีทางเลือกหลายโครงการและแต่ละโครงการมีขนาดของเงินลงทุนไม่เท่ากัน อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าโครงการใดดีกว่ากัน ยกตัวอย่างเช่น โครงการ ก. และโครงการ ข. มี B/C ratio เท่ากัน คือ 1.5 เท่า ดังนี้

Mobirise

หากพิจารณาจากอัตราส่วน B/C ratio พบว่าทั้ง 2 โครงการไม่แตกต่างกันเพราะมีค่า B/C ratio เท่ากัน แต่ในความเป็นจริงแล้วเนื่องจากจำนวนเงินลงทุนของทั้ง 2 โครงการนี้ไม่เท่ากัน โดยโครงการ ก. ใช้เงินลงทุน 50 ล้านบาทมากกว่าโครงการ ข. ที่ใช้เงินลงทุนเพียง 10 ล้านบาท และโครงการ ก. ให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดยหากพิจารณาจากมูลค่าปัจจุบันสุทธิ หรือ NPV โครงการ ก. มี NPV มากกว่าโครงการ ข. ถึง 20 ล้านบาท ดังนั้นจึงต้องพิจารณาค่า B/C ratio ควบคู่กับ NPV หรือเกณฑ์อื่นด้วย

การพิจารณาความเหมาะสมของโครงการ นอกจากจะพิจารณาความเป็นไปได้ทางการเงินแล้ว ยังต้องพิจารณาความเหมาะสมด้านอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ข้อกำหนดด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น


การอุดหนุนทางการเงิน (Subsidization)

Subsidy หรือ เงินอุดหนุน เป็นกลการใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนสินค้าหรือบริการบางอย่างเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากสินค้าหรือบริการนั้น ในทางปฏิบัติเราพบเห็นการใช้งบในลักษณะ subsidy อยู่ในหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถพิจารณา ว่าอะไรเป็น Subsidy หรือไม่ จากข้อสังเกตต่อไปนี้

 1. ผู้ได้รับประโยชน์จากการใช้สินค้าหรือบริการนั้น ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดในการจ่ายค่าตอบแทนสินค้าหรือบริการนั้น

 2. หากผู้ผลิตสินค้าหรือผู้ให้บริการอยู่ในภาคเอกชน มักจะมีผู้ “ช่วยจ่าย” ค่าสินค้าหรือค่าบริการ ที่ไม่ใช่ผู้รับบริการโดยตรง

 หรืออีกนัยหนึ่ง subsidy จะเกิดขึ้นเสมอ กรณีที่ ผู้ซื้อไม่ได้ใช้และผู้ใช้ไม่ได้ซื้ออย่างสมบูรณ์ ตัวอย่างเช่น

ในการพัฒนาวิสาหกิจร้านอาหาร เพื่อให้มีมาตรฐานทางด้านสุขอนามัย หน่วยงานหนึ่งได้ส่งเสริมเครื่องหมาย “ร้านอาหารสะอาด” และได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการประเมินร้านอาหารเพื่อขอรับเครื่องหมายดังกล่าว นอกจากการพัฒนาเกณฑ์และระบบประเมินร้านอาหารแล้ว ภาครัฐยังทำการเผยแพร่ระบบนี้ให้สาธารณชนได้ทราบ และเมื่อร้านอาหารต่างๆแสดงความต้องการเข้ารับการประเมินเพื่อขอรับเครื่องหมายดังกล่าว ภาครัฐก็ได้จัดให้มีคณะผู้ประเมินมาตรฐานสุขอนามัยดำเนินการประเมินร้านอาหารต่างๆเพื่อตัดสินว่าร้านเหล่านั้นควรได้รับเครื่องหมายดังกล่าวหรือไม่ โดยมีหน่วยงานหนึ่งเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการประเมิน โดยผู้ประกอบการร้านอาหารไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจประเมิน

พิจารณาโครงการส่งเสริมมาตรฐานร้านอาหารนี้แล้ว จะเห็นว่า เครื่องหมาย “ร้านอาหารสะอาด” เป็นเครื่องหมายที่มีมูลค่าทางธุรกิจ นั่นคือร้านค้าที่ได้สิทธิ์ในการแสดงเครื่องหมายนี้ จะเป็นร้านที่ผู้บริโภคให้ความสนใจในการใช้บริการมากขึ้น หรือการมีเครื่องหมายนี้เป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ร้านอาหารนั่นเอง ในการที่จะได้เครื่องหมายนี้มา วิสาหกิจต้องผ่านการประเมินโดยผู้ประเมินที่กำหนดโดยหน่วยงานเจ้าของเครื่องหมาย นั่นคือวิสาหกิจต้องรับบริการ “ประเมิน” ตามมาตรฐานดังกล่าวนั่นเอง

ในกรณีนี้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวสนับสนุนงบประมาณในการประเมิน ทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการประเมิน หรือ ผู้ประกอบการได้รับการอุดหนุนในการใช้บริการ “ประเมิน” นี้นั่นเอง


การอุดหนุนในบางโครงการ อาจไม่ได้อุดหนุนทั้งหมด คือให้ผู้รับบริการได้รับผิดชอบค่าบริการบางส่วน ก็ยังถือเป็นการอุดหนุนเช่นกัน เกณฑ์ในการตัดสินว่าแนวทางพัฒนาใดเหมาะควรหรือไม่ คำถามที่สำคัญคือ “การกระทำนั้น ทำให้เราไปถึงจุดหมายที่ต้องการไหม”

จุดหมาย หรือที่เรียกในเชิงยุทธศาสตร์ว่า “Goal” คือสภาพขององค์กร กลุ่ม หมู่ชน สังคม ฯลฯ ที่เราต้องการไปสู่สภาพนั้น เช่น วิสาหกิจมีความเข้มแข็งทางธุรกิจสามารถแข่งขันในระดับสากลได้ ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี ตัวเลขการส่งออกของสาขาอุตสาหกรรมหนึ่งเติบโตต่อเนื่อง สมาชิกของหมู่บ้านมีความสามัคคีกัน เป็นต้น

จุดหมายของเรา มีผลต่อแนวทางดำเนินการเสมอ และสิ่งสำคัญในจุดหมายคือ ขนาด หรือ scale นั่นเอง เช่น ถ้าจุดหมายคือ “วิสาหกิจจำนวนหนึ่ง มีความเข้มแข็ง” ถือว่ามี scale เล็กมาก เมื่อเทียบกับ “อุตสาหกรรม sector นั้น มีความเข้มแข็ง”

ในทำนองเดียวกัน “ร้านอาหารจำนวน 4,000 ร้านมีภาวะสุขอนามัยดี” ย่อมเทียบไม่ได้กับ “การประกอบการร้านอาหารของประเทศไทยมีภาวะสุขอนามัยดี”


Scale ของจุดหมาย มีอิทธิพลต่อวิธีการทำงานเสมอ!

กรณีโจทย์ร้านอาหารสะอาด หน่วยงานเจ้าของเครื่องหมาย ”ร้านอาหารสะอาด” ได้เตรียมงบประมาณและเจ้าหน้าที่เพียงพอต่อการตรวจประเมินร้านอาหารจำนวน 2,000 ร้านต่อปี สมมุติว่ามีร้านอาหารในประเทศอยู่ 100,000 ร้าน และเป้าหมายภาวะ สุขอนามัยคือให้ร้านอาหารจำนวนอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ได้รับการรับรอง “ร้านอาหารสะอาด” คือจำนวน 50,000 ร้าน หากหน่วยงานนี้ทำงานแบบเดิมๆ ก็จะต้องใช้เวลา 25  ปีในการตรวจรับรองร้านอาหารให้ครบ 50,000 ร้าน นี่ยังไม่รวมจำนวนที่ต้องตรวจซ้ำเมื่อได้รับการรับรองไปแล้วทุกๆ ๑-๒ ปี


ผลเสียของการอุดหนุน 

 1. การใช้เงินสาธารณะซื้อบริการของหน่วยงานรัฐ ทำให้เกิด “โครงการฟรีโดยรัฐบาล” “โครงการอุดหนุนของรัฐ” ที่ปกติไม่ใช่ของฟรี แต่ด้วยกลไกอุดหนุนของรัฐ สามารถทำให้สินค้าหรือบริการนั้นกลายเป็นของฟรี หรือมีราคาต่ำกว่าท้องตลาด เพื่อให้มีลูกค้ามาใช้บริการ ซึ่งเป็นการใช้เงินของรัฐ ซื้อบริการของรัฐเอง จึงไม่มีคู่แข่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียข้อที่สอง

 2. การกีดกันบทบาทของภาคเอกชน เมื่อหน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของโครงการซึ่งให้บริการฟรี หรือบริการราคาถูกแก่ประชาชน ย่อมเป็นการตัดโอกาสที่จะมีหน่วยงานเอกชนใด ให้บริการในลักษณะเดียวกันด้วยกลไกตลาดได้ จึงเป็นการกีดกันบทบาทของภาคเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการแข่งขัน และด้วยทรัพยากรของรัฐมีจำกัด ทำให้สามารถดำเนินโครงการได้เพียงพอกับความต้องการที่มีอยู่จริงของประชาชน แต่การใช้ subsidy ผูกมัดบริการเอาไว้ ก็ทำให้ไม่สามารถเกิดการแข่งขันจากภาคเอกชนเช่นกัน

 3. การสร้างความคาดหวังผิดๆ ให้กับประชาชนในการรอรับประโยชน์จากภาครัฐ เพราะการใช้เงินอุดหนุนบริการของรัฐโดยไม่ระมัดระวัง ทำให้ประชาชนผู้รับบริการเกิดความคาดหวังว่าจะต้องมีบริการหรือโครงการลักษณะนั้นต่อๆ ไป ประชาชนจึงหวังพึ่งโครงการของรัฐ แต่ในความเป็นจริง รัฐสามารถอุดหนุนผู้ประกอบการและประชาชนได้เพียงบางส่วน ในระยะเวลาที่จำกัด

 4. การหวังเพียงประโยชน์ระยะสั้นทางการเมือง ทำให้เกิดนโยบายแบบรัฐสวัสดิการ รัฐจัดสรร ประชานิยม ซึ่งอาจเป็นการหาประโยชน์ระยะสั้นทางการเมือง โดยไม่ได้มุ่งหวังความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา และจะใช้กลไก subsidy เช่น การระดมใช้ทรัพยากรเพื่อบรรเทาปัญหาชั่วคราวโดยไม่ได้แก้ไขปัญหาพื้นฐานเชิงระบบ หรือใช้การอุดหนุนในวงจำกัด (เท่าที่มีงบประมาณ) โดยไม่มีหนทางแก้ไขสภาวะให้ครบถ้วนในวงกว้าง ซึ่งทำเพื่อให้เกิดความประทับใจต่อประชาชนว่า รัฐเป็นผู้ให้การบรรเทาปัญหา ซึ่งอาจมีผลต่อเนื่องในการสร้างทัศนคติที่ผิดต่อเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานราชการด้วยเช่นกัน คือการเข้าใจว่าตนมีหน้าที่นำทรัพยากรสาธารณะมาช่วยเหลือประชาชน โดยช่วยเพียงส่วนหนึ่งที่มีโอกาส หรือที่ใกล้ชิดกับหน่วยงานเท่านั้น


 การอุดหนุนแม้จะมีผลเสียได้มาก แต่ในบางกรณีก็มีความชอบธรรมที่จะนำมาใช้ The Operational Guide for the Making Markets Work for the Poor Approach (M4P) โดย UK-DIFD และ Swiss-CDC ได้เสนอแนวกลั่นกรองความชอบธรรมในการใช้ Subsidy ไว้ดังนี้

 1. เพื่อจูงใจให้เปลี่ยนพฤติกรรม ให้ผู้ใช้บริการรู้จักใช้บริการที่ดี มีคุณค่า บริการนั้นอาจเป็นบริการใหม่ ที่ต้องอาศัยการทดลองใช้ก่อนที่ประชาชนจะตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้ การอุดหนุนบริการด้วยระยะเวลาจำกัดจึงเป็นสิ่งจำเป็น

 2. เพื่อลดความเสี่ยงในการใช้บริการ โดยการใช้ subsidy เพื่อลดราคาค่าบริการลงสู่ระดับที่ผู้ใช้บริการยอมรับได้ ซึ่งเป็นการลดราคาโดยจำกัดระยะเวลาเช่นกัน

 3. ประชาชนมีฐานะไม่ดีพอที่จะจ่ายได้ อันนี้มีข้อพึงระวังอย่างมาก ว่าประชาชนไม่สามารถจ่ายค่าบริการนั้นได้จริงหรือไม่ หากเป็นบริการที่มีคุณค่าจริง เป็นเรื่องฉุกเฉินที่ไม่สามารถรอได้ หรือ เป็นเรื่องปกป้องสังคม (ซึ่งหากปล่อยไว้จะเกิดผลเสียมากมาย) การใช้ subsidy ด้วยเหตุผลนี้ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า จะหาเงินมาดำเนินการต่อไปอย่างไรในระยะยาว และจะต้องอุดหนุนไปเรื่อยๆไม่จบสิ้นหรือไม่ หรือหากทำได้เพียงสเกลเล็กๆ เนื่องจากงบประมาณจำกัด จะส่งผลเสียในภาพรวมอย่างไรบ้าง

 4. การอุดหนุน ทำได้เร็ว เห็นผลงานเร็ว ใช้เงินได้ตามแผนงบประมาณ อันนี้เป็นเหตุผลทางการเมือง หามีความชอบธรรมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่


Subsidy มีทั้งคุณประโยชน์และโทษ หากใช้ด้วยความมักง่ายจะเกิดผลเสียมากมาย แต่หากใช้ด้วยความระมัดระวัง แม้จะทำให้การดำเนินการยากขึ้นบ้าง แต่หากเรามีเป้าหมาย Goal แห่งการพัฒนาเป็นสำคัญ เราจะถูกบังคับให้เลือกใช้ Subsidy ที่สอด คล้อง บรรลุเป้าหมายได้จริง แต่นั่นหมายถึงการปรับเปลี่ยนบทบาทและวิธีการทำงานของหลายๆหน่วยงานรัฐ ที่มีวิธีการใช้ Subsidy ที่เหมาะสม และมีแนวทางทำงานที่จะบรรลุเป้าหมายโดยไม่ใช้ Subsidy อย่างเสียหายดังที่ได้กล่าวมา


(ที่มา :  โชติวุฒิ อินนัดดา, Subsidy Dilemma ตอนที่ 1 : เงินอุดหนุนจากรัฐ ยาโด๊ป หรือยาสั่ง)

Made with Mobirise - Try here