อิทัปปัจยตา :
Smile to the cloud in your tea


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

Mobirise
Mobirise

ท่าน...ติช นัท ฮันห์ ตั้งคำถามว่า "เวลาดื่มชา เห็นก้อนเมฆไหม?”


หนูดี...ได้เห็นคำถามนั้นในหนังสือของท่าน ก็เลยลองดื่มชาแล้วจินตนาการเห็น..ก้อนเมฆลอยฟ่องอยู่ในแก้วชา แล้วก็ปลื้มอกปลื้มใจว่าเราปฏิบัติได้ไม่เลวเลยนะนี่  


 จนมารู้ตัวว่า...หลงตัวเองผิด ๆ ไป ก็ตอนได้เข้าร่วมงานภาวนากับหลวงปู่ แล้วได้รับฟังธรรมบรรยายเรื่อง “ก้อนเมฆในแก้วชา" ด้วยตัวเอง ลองคิดตาม จินตนาการตามคำหลวงปู่ไปเรื่อยๆ แล้ว ก็ได้มองเห็นในสิ่งที่ลึกซึ้งกว่าแค่ "รูปทรงก้อนเมฆ" ในแก้วชาเป็นไหน ๆ


 เรื่องราว...เริ่มต้นขึ้นที่...ภูเขาลูกหนึ่งในภาคเหนือ ฝนตกกระหน่ำลงมาบนไร่ชาที่ยอดเขา จนต้นชาชุ่มฉ่ำเพราะได้รับน้ำฝนเต็มที่ตอนกลางคืน และ...พอรุ่งเช้าต่อมานั้นเอง คนงานในไร่ชาก็แบกตะกร้าขึ้นหลังออกมาเก็บ...ยอดชาอ่อนๆ แต่เช้าตรู่เพื่อนำไปบ่มในโรงงาน คนงานเก็บชากันไปก็คุยเล่นกันไป บางคนเอาลูกอ่อนออกมาด้วยเพราะไม่มีใครเลี้ยงที่บ้าน เก็บชาเสร็จ นำใบชาสดไปเข้าโรงบ่ม เมื่อบ่มเสร็จคนงานอีกชุดก็บรรจุกล่อง คนขับรถนำกล่องชาลงมา เพื่อวางขายที่ร้านในเมืองหลวง และเรา...ก็เดินไปซื้อมา


 เมื่อกลับมาบ้าน เราเปิด...น้ำใส่กาน้ำชาน้ำ..นี้เดินทางมาจาก...แม่น้ำ ก่อนจะมาให้เราดื่มได้ ก่อนน้ำจะอยู่ในแม่น้ำ ก็ต้องเป็นน้ำฝน ก่อนเป็นน้ำฝน...ก็คือ...ก้อนเมฆ แต่ก้อนเมฆก็มีการเดินทางก่อนที่จะเข้ามาอยู่...ในแก้วชาของเรา


 ทุกครั้งที่เรา... ดื่ ม ช า ถ้าเราพิจารณาอย่างลึกซึ้ง เราก็จะเห็นก้อนเมฆในนั้นทุกครั้ง


 แค่นี้ก็กระจ่างว่า โลกทั้งโลกหล่อเลี้ยงเรา และโลกดำรงอยู่ได้เพราะจักรวาลทั้งจักรวาลดำรงอยู่ นั่นหมายความว่า จักรวาลทั้งจักรวาลนั้น หล่อเลี้ยงเรา เรากับจักรวาล ไม่ใช่หน่วยที่แปลกแยก ซึ่งกันและกัน
แต่... ดำ ร ง อ ยู่ ใ น กั น แ ล ะ กั น


 ดื่มชาแบบนี้...เราจะเห็นได้ว่า เราไม่ใช่หน่วยที่แยกออกมาอย่างโดดเดียว เราไม่มีความจำเป็นต้อง...เหงา หรือ...รู้สึกว่างเปล่าอีกต่อไป เพราะตัวเราไม่อาจแยกจาก...จักรวาลได้ เราเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล เหมือนที่ทุกอณูของจักร-วาลก็ปรากฎอยู่ในตัวเรา


 นี่...เป็นการมองอย่างลึกซึ้ง 
 เป็นการมองอย่าง "จริง" และเป็นวิทยาศาสตร์

 เชิญดื่มค่ะ ... "โลกทั้งใบ ในชาแก้วเดียว"


(จากหนังสือ : ถึงเวลาท้าทายสมอง โดย หนูดี วนิษา เรซ)


Mobirise

บางส่วนจาก ปาฐกถาธรรม ๑๐ ปี คิลานธรรม คุณค่าแห่งการดำรงอยู่และการจากลา:สู่วิถีคิลานธรรม
โดย รศ.ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว  (อดีตรองคณบดี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ฟังแบบย่อ  (4 นาที)  |  ฟังแบบเต็ม (26 นาที) 

ความเป็นไปในธรรมชาติ เป็นระบบของความสัมพันธ์อันกว้างใหญ่ การที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งจะเกิดมีขึ้นได้ ต้องอาศัยเหตุปัจจัยต่างๆ หลากหลาย ประชุมกันพรั่งพร้อม และเหตุปัจจัยแต่ละอย่างนั้น ก็หนุนกันให้เกิดผลหลายอย่าง เช่น เม็ดมะม่วงเป็นเหตุให้เกิดต้นมะม่วง และพร้อมกันนั้น ดิน น้ำ อุณหภูมิ ปุ๋ย ก็เป็นปัจจัยให้ต้นมะม่วงนั้นเกิดขึ้นมา และปัจจัยเหล่านั้น ก็ยังส่งผลต่อสิ่งอื่นๆ สืบเนื่องต่อไปอีกมากมาย ในธรรมชาติที่เป็นจริงนั้น ความสัมพันธ์ และการประสานส่งผลต่อกัน ระหว่างปัจจัยทั้งหลาย มีความละเอียดซับซ้อนมาก พูดได้ว่า “ผลหลากหลาย เกิดจากเหตุปัจจัยหลากหลาย” 

จากการที่ไม่รู้ ไม่ได้นึกถึง ไม่มี ไม่ใช้ปัญญา ที่จะไล่ตามดู ให้ทัน ให้ทั่ว ให้ถึง ระบบเหตุปัจจัยหลากหลายที่ว่านี้ การพัฒนา ความเจริญของมนุษย์ ก็ได้ทำให้เกิดปัญหาแก่โลก ทั้งแก่ชีวิตและแก่สังคมมากมาย เพราะไม่รู้ทั่วถึงความจริงนี้ และมัวแต่มุ่งผลอันเดียวที่ตัวต้องการ ก็ไประดมทำเหตุปัจจัยของผลนั้นให้พร้อม เสร็จแล้วพอได้ผลที่ต้องการ ก็หยุด โดยไม่ดูว่าบรรดาปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดสิ่งที่ตัวต้องการนี้ แต่ละปัจจัยนั้น มันได้ส่งผลอย่างอื่น ที่ร้าย ที่ดี อะไรๆ ออกไปบ้าง

มนุษยชาติได้ประสบปัญหาใหญ่ในด้านสิ่งแวดล้อม ที่เพิ่งตระหนักรู้ อย่างเรื่องสำคัญคือปัญหาในระบบนิเวศ แต่ก่อนนั้น มนุษย์ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่มองเห็นปัญหา จนกระทั่งได้ประสบโทษภัยที่รุนแรง จึงเริ่มตื่นตัวกันขึ้นมา กรณีที่เด่นชัดมาก คือเรื่อง DDT ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงยอดนิยมตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมานานไม่น้อย จึงค่อยๆ รู้ว่า DDT ส่งผลกระจายพิษภัยกว้างขวางและสืบเนื่อง ยาวไกลออกไปในระบบนิเวศของธรรมชาติแวดล้อม ทั้งในอากาศ ในดิน ในน้ำ และต่อทอดจากแมลงไปยังนก ไก่ ปลา ปู หมู จนถึงตัวคนเอง แถมเจ้าพวกแมลงกลับสร้างภูมิต้านทานได้ดี ทำให้แมลงรุ่นใหม่ๆ เก่งกล้า ฆ่าไม่ค่อยตาย ในขณะที่คนยิ่งเสี่ยงภัย เสี่ยงตายกันมากขึ้น แล้วในช่วงต่อมา หลังปี พ.ศ. 2500 คนก็ตื่นกลัวภัย DDT จนหลายประเทศประกาศห้ามใช้ เช่นอเมริกา ในปี พ.ศ. 2515


ไม่ว่าในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือแม้แต่การวางแผนการดำเนินชีวิตของบุคคล ถ้าเรามุ่งผลเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเอาความรู้ความเข้าใจเท่าที่มี มาคิดสร้างสรรค์ให้เกิดผลที่คิดว่าดีตามต้องการได้ แต่เพราะมองอยู่แค่ผลที่หมาย ไม่ได้มองผลหลากหลายที่เกิดจากปัจจัยอเนกให้ทั่วถึง (หรือยังไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะมองเห็นอย่างนั้น) จึงปรากฏบ่อยๆ ว่า หลังจากทำผลที่หมายได้สำเร็จ ผ่านไป หลายสิบปี จึงรู้ตัวว่า ผลร้ายที่พ่วงมา กระทบแก่ชีวิตตน หรือโลกอย่างรุนแรง จนกลายเป็นได้ไม่เท่าเสีย

ชีวิตของเราก็เป็นทั้งเหตุและผลของระบบเหตุปัจจัยอเนกนี้ ถ้าเราเลือกที่จะใช้ชีวิตตามความเข้าใจของเรา โดยมุ่งหวังเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่มองเห็น ปัจจัยที่เกี่ยวข้องของชีวิตตน รวมทั้งผลที่จะเกิดเนื่องมาจากการดำเนินไปของชีวิตตนเองนั้น แต่ละก้าวย่างของชีวิตก็สุ่มเสี่ยง คล้ายคนหลงทางในดงระเบิด ที่ไม่อาจรู้ว่าแต่ละก้าวที่เหยียบลง จะส่งผลอย่างไร

เราจึงจำเป็นต้องเปิดใจ เปิดโอกาส ที่จะได้เรียนรู้ เพื่อทำความเข้าใจ ระบบความสัมพันธ์ที่มีอยู่รอบตัวเรา ทั้งปัญหาหนี้สิน ของพ่อแม่ ความคาดหวังของคนรัก แผนธุรกิจของบริษัทที่เปิดรับสมัครงาน นโยบายของรัฐบาล กลเกมการเมือง และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะถ้าเราเลือกดำเนินชีวิตเพียงเพราะเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง - ขอให้มีงานทำ, อยากจะร่ำรวย, แม้แต่กาแฟสักถ้วยที่หอมละมุน ฯลฯ เราก็จักได้รับผลจากทุกก้าวย่างของชีวิตอย่าง ที่เราอาจไม่คาดคิด อาจมองไม่เห็น อาจรู้ไม่ทัน อาจเห็นไม่ทั่ว ...


ในความเป็นจริง... เราอาจไม่รู้ระบบความสัมพันธ์ทุกอย่าง ได้ทั้งหมด 
 หรือถึงแม้เราจะรู้ได้ทั้งหมด เราก็ไม่อาจตัดสินใจแต่ละครั้ง ให้ถูกใจ ให้เกิดผลดีพรั่งพร้อม สำหรับทุกคน ทุกสิ่ง ทุกแง่ ทุกมุม 
 ในความเป็นจริง... ยิ่งเรารู้เข้าใจระบบสัมพันธ์เหล่านั้นกว้างขวาง ลึกซึ้ง แท้จริง ยิ่งขึ้นเพียงใด โอกาสและความเป็นไปได้ ที่เราจะนำพาชีวิตให้ก้าวย่างได้อย่างปลอดภัย ส่งผลดีต่อตนและผู้คนรอบข้าง (แม้ไม่สมบูรณ์เต็มร้อย) แต่ก็จะมากขึ้นเพียงนั้น


คำถามจึงอยู่ที่เรา ว่า ณ ขณะนี้ เรารู้ เราเข้าใจ เพียงพอสำหรับการตัดสินใจ ในชั่วขณะนี้ เพียงใด ?

ถ้าเรามั่นใจว่ารู้ทั่ว นั่นอาจจะเป็นคำตอบที่น่ากลัวกว่า ... 
 แต่ถ้าเราตอบว่าเรายังไม่รู้ชัด สิ่งที่เราทำได้ คือพยายามเรียนรู้อย่างเต็มกำลัง ตั้งเจตนาดีในทุกก้าวย่าง อย่างน้อยก็จะไม่ทำร้ายใครโดยตั้งใจ ถ้าจะพลาดจริงๆ ก็ขอให้พลาดเพราะไม่รู้ ดีกว่าพลาดเพราะเจตนาจะเลว แต่จะดีกว่านั้นไหม ถ้าได้รู้ และไม่เพียง ไม่พลาด แต่ยังอาจสร้างสรรค์นำพาตนและผู้อื่น ให้ออกจากดงระเบิดได้อย่างปลอดภัย สร้างสรรค์โลกใบนี้ให้งดงามยิ่งขึ้นไปกว่าที่เคย


อ้างอิง :
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2562, เหตุปัจจัย ในปฏิจจสมุปบาทและกรรม.
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2562, มองดู ฉันทะ-ตัณหา ไล่มาตั้งแต่เจงกิสข่าน.

Mobirise

This site was started with Mobirise web themes