การพัฒนาบุคลิกภาพ 


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

“คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผู้อื่นได้

คุณจะต้องเป็นแบบอย่างของการเปลี่ยนแปลง
ที่คุณต้องการเห็นในตัวผู้อื่น”


การพัฒนาบุคลิกภาพ ในฐานะที่เป็นพื้นฐานในการสร้างโอกาสแก่ชีวิต


 John Robert Powers สถาบันพัฒนาบุคลิกภาพที่มีชื่อเสียง ระบุว่า “บุคลิกภาพเป็นพลังของการก้าวกระโดดไปสู่ความโดดเด่นในชีวิต” คำว่า บุคลิกภาพ ไม่ใช่แค่เรื่องเสื้อผ้า หน้า ผม แต่หมายถึงสภาพนิสัยจำเพาะบุคคล ทั้งที่แสดงออกผ่านพฤติกรรม วาจา และความรู้สึกนึกคิด นิสัยใจคอ ที่ทำให้แต่ละบุคคลแตกต่างกัน องค์ประกอบของบุคลิกภาพที่ดีของบุคคล จำแนกได้ดังนี้

1. บุคลิกภาพด้านกายภาพ ได้แก่ สุขภาพร่างกาย ความสะอาดเรียบร้อย รูปร่างหน้าตา การแต่งกาย อิริยาบถต่างๆ 

2. บุคลิกภาพด้านวาจา หมายความรวมทั้งเนื้อหาสาระของการสื่อสาร และการเลือกใช้วิธีการในการสื่อสาร

3. บุคลิกภาพด้านสติปัญญา หมายถึงความเข้าใจต่อสถานการณ์ บุคคล จนสามารถตัดสินใจต่อสิ่งต่างๆ ได้ดี และทันเวลา

4. บุคลิกภาพด้านอารมณ์ คือความสามารถในการสร้างพื้นฐานสุขภาวะทางจิตใจ ทำให้สามารถควบคุมอารมณ์ต่อสิ่งที่มากระทบไม่ว่าน่ายินดี หรือไม่ ได้อย่างดี และมีประสิทธิภาพ เอื้อต่อการใช้ปัญญาคิดพิจารณาในสถานการณ์นั้นๆ ได้อย่างเต็มที่

5. บุคลิกภาพด้านความสนใจและเจตคติ คือท่าทีทางความคิดที่มีต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมด้านอื่นๆ เช่นการวางตัวในสังคม การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งจะเป็นไปตามความเชื่อ ความเข้าใจ ความสนใจ ที่บุคคลมีในเรื่องนั้นๆ



ปัจจัยที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพ มีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก บางปัจจัยแก้ไขได้ง่าย บางปัจจัยเปลี่ยนแปลงได้ยาก


1. ปัจจัยด้านกายภาพ ได้แก่ พันธุกรรมและการพัฒนาการทางกายที่ส่งผลต่อ รูปร่าง ทรวดทรง หรือความผิดปกติต่างๆ รวมถึงสภาวะเคมีในร่างกายซึ่งสัมพันธ์กับระบบต่อมไร้ท่อโดยตรง เช่น Pituitary glands ที่ผลิตฮอร์โมนที่สร้างความเจริญเติบโตของร่างกาย, Thyroid glands ที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางกาย อารมณ์ทางเพศ สติปัญญา ถ้าต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไป จะส่งผลทางกาย เช่น ชีพจรเต้นเร็ว การเผาผลาญผิดปกติ และส่งผลทางระบบประสาท ทำให้มีอารมณ์ต่อสิ่งที่มากระทบได้ง่าย อยู่นิ่งไม่ได้ เป็นต้น, Gonad glands เป็นส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์ ส่งผลต่อลักษณะความเป็นชายและหญิงโดยตรง

2. ปัจจัยด้านสุขภาพ ส่งผลโดยตรงต่อตัวบุคคล ทั้งทางด้านพฤติกรรม จิตใจ และศักยภาพในการใช้ชีวิต 

3. ปัจจัยด้านสังคม ได้แก่ประสบการณ์ในครอบครัว เพื่อน ไปจนถึง ขนบประเพณีในสังคม ตั้งแต่เกิดจนตาย


ความสำคัญของบุคลิกภาพ ที่มีต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคม มีหลายด้าน ทั้งในฐานะที่เป็นการสร้างอัตลักษณ์ของ บุคคล ทำให้คนแตกต่างกัน และทำให้เกิดการยอมรับหรือเลือกสรรคนที่จะรวมกลุ่มกันในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่นเมื่อจะทำงานกลุ่ม หรือจะไปเที่ยว คนก็จะเลือกสรรเพื่อนร่วมกลุ่มที่มีบุคลิกเหมาะสมในกิจกรรมนั้นๆ นอกจากนี้บุคลิกภาพยังส่งผลต่อการคาดหมายพฤติกรรม ว่าบุคคลที่มีบุคลิกมั่นใจ ฉุนเฉียว รุนแรง ก็น่าจะตอบโต้ต่อสถานการณ์หนึ่งๆ ต่างไปจากคนที่มีบุคลิกขี้กลัว เก็บตัว 

บุคลิกภาพที่ดี ส่งผลโดยตรงต่อการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น การยอมรับของกลุ่ม และเป็นปัจจัยเอื้อให้เกิดโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ เพราะการมีบุคลิกภาพที่ดี ทำให้ได้รับความเชื่อมั่น และศรัทธา อันเป็นประตูไปสู่โอกาสอื่นๆ ทั้งนี้ ก็มิได้หมายความว่า บุคลิกภาพจะเป็นตัวตัดสินความสำเร็จโดยส่วนเดียว ฉะนั้นจึงควรพัฒนาบุคลิกภาพ ควบคู่ไปกับทักษะชีวิตด้านอื่นๆ อย่างสมดุล

การพัฒนาบุคลิกภาพจึงเริ่มตั้งแต่การดูแลสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ ไปจนถึงการฝึกกิริยาท่าทางต่างๆ การแต่งกาย ให้สง่า มีเสน่ห์ เรียบร้อย มีมารยาท สมวัย เหมาะกับกาละเทศะ นอกจากนั้นยังต้องฝึกด้านอารมณ์และความคิด ให้เป็นคนสุขุม รอบคอบ มีเหตุผล ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความมั่นใจในตนเองอย่างพอเหมาะ มีอารมณ์มั่นคง อดทน กล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าเผชิญกับ ความจริง ด้วยความรู้เท่าทัน ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ดี สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลต่าๆ ได้ง่าย และรักษาไว้ได้ดี ซึ่งคุณลักษณะทั้งหมดนี้จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝน ไม่เฉพาะจากการอบรมอย่างเป็นรูปแบบ แต่ต้องฝึกในชีวิตประจำวันจึงจะได้ผลดี



อ้างอิง :  สราวรรณ์ เรืองกัลปวงศ์ และอรรนพ เรืองกัลปวงศ์, 2561, การพัฒนาบุคลิกภาพเพื่อการจัดการทรัพยากรมนุษย์, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต.

This web page was started with Mobirise