ตามรอย.. พุทธธรรม

หลักการจัดการปัญหา
ตามแนวอริยสัจ 4


0.  ปัญหา

PROBLEM # 0

รองเท้าจำนวนมากถูกวางอยู่ตามแนวทางเดินเข้าสู่ห้องกิจกรรม หลายข้างไม่อยู่กันเป็นคู่ และบางคู่ที่อยู่ริมนอกเริ่มเปียกฝนที่กำลังตกหนัก

ข้อความที่อยู่ในหัวข้อ PROBLEM # 0 ข้างต้น เป็นประโยคบอกเล่า ไม่ใช่ประโยคคำถาม แต่หากใครใส่ใจพิจารณาดูให้ดี ก็อาจจะพบว่ามีปัญหา ที่ควรค่าต่อการตั้งคำถามและหาคำตอบ อยู่ในเรื่องราวนั้น ... อยู่ที่ว่า ใครจะตั้งคำถามอะไร - หรือไม่ ?  (คำถามที่ดีควรนำไปสู่การพัฒนา มิใช่การถามหาคนผิดเพียงเพื่อกล่าวโทษ)

การเห็น (ว่าเป็น) ปัญหา  คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งของการจัดการกับปัญหา และการสร้างสรรค์นวัตกรรม

ก็เหมือน เซอร์ ไอแซค นิวตัน ที่เห็นปัญหาน่าสนใจ อยู่ในเรื่องราวที่ว่า "แอปเปิ้ลหล่นจากต้น ร่วงลงสู่พื้น"

การจัดการกับปัญหา จะเริ่มขึ้นไม่ได้ หากเราไม่สังเกตเห็น และยอมรับว่า มันคือปัญหา

- ถ้าเราไม่สังเกตว่าวันนี้ คุณแม่ของเราทานอาหารน้อยมาก และมีอาการเซตอนลุกขึ้นจากโต๊ะอาหาร
- ถ้าเราไม่ยอมรับ ว่าความขี้โมโห ชอบโวยวายของเราเป็นปัญหากับใคร โดยให้เหตุผลว่า "ก็ฉันเป็นของฉันแบบนี้"
- ถ้าเรารู้สึกว่า การผิดกฎจราจร การทุจริตในการสอบ การใช้เส้นสาย และเรื่องราวทำนองนี้อีกมากมาย เป็นเรื่องปกติในสังคมของเรา และในตัวเรา

ถ้าเราคิดเช่นนั้น เราก็จะไม่เห็นว่า "มีปัญหา"  และเราจึงไม่จัดการอะไร กับ "ปัญหาที่มีอยู่" เหมือนอย่างกองรองเท้าเกะกะหน้าห้องกิจกรรม ในตัวอย่างข้างต้น

นวัตกรรมมากมาย เกิดขึ้นจากสิ่งธรรมดาๆ รอบตัว ที่หลายคนมองผ่านไป แต่มีบางคนเห็นเป็นปัญหา โดยตั้งคำถามทำนองว่า   "เราจะทำสิ่งนั้นๆ  ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น / สะดวกกว่าเดิม / ผิดพลาดน้อยลง / ฯลฯ   ได้อย่างไร?" 

ก็เหมือนอย่างที่ สิคิจิ โตโยดะ เห็นว่า การทอผ้าด้วยวิธีการเดิมนั้นเป็นการทำลายสุขภาพของมารดาที่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งทั้งวันเพื่อทอผ้าทีละนิ้ว ทีละคืบ เขาจึงพยายามคิดค้นเครื่องทอผ้า และพัฒนาต่อมา จนเติบโตเป็นบริษัทโตโยต้า ที่เราเห็นกันทุกวันนี้

Mobirise

1.  การทำความเข้าใจสภาพปัญหา

PROBLEM # 1

ขณะคุณกับเพื่อนกำลังนั่งจิบชานมเย็นๆ ในบรรยากาศชิวๆ อยู่ที่ริมระเบียงหอพัก แล้วเพื่อนรักของคุณก็ทักขึ้นว่า "เซ็งจังเลยว่ะ"  คุณจะพูดว่า ......
(ก)  "ไปดูหนังกันมั้ย ... แกอยากดูเรื่องอะไรล่ะ"
(ข)  "แกอยากไปไหนป่าว... เราไปเป็นเพื่อนได้นะ"
(ค)  "แกเซ็งอะไรเหรอ ... เล่าให้เราฟังได้ป่าว"
(ง)  "อย่าเซ็งไปเลยแก ... ชานมเจ้านี้อร่อยดีนะ ว่ามั้ย"

ก่อนอื่น อย่างเพิ่งเข้าใจผิด คิดไปว่า  PROBLEM # 1  นี้เป็นคำถามจิตวิทยา ที่ผู้ตอบจะถูกตีความว่าเป็นคนเช่นไร จนทำให้รู้สึกลังเลที่จะตอบ และมักจะรู้สึกขัดแย้งกับคำเฉลย

คำถามนี้เป็นเพียงตัวอย่างธรรมดาๆ ของปัญหาทั้งหลาย ที่พบได้บ่อยไปในชีวิตแต่ละวันของเรา ซึ่งมันก็อาจดูคล้าย ปมด้ายยุ่งๆ ที่รอให้เราคลี่คลาย (ในกรณีที่เราอยากจะจัดการกับมันน่ะนะ - แต่ถ้าไม่ ก็แค่นั่งเฉยๆ ปล่อยให้มันผ่านไป) 

การจะเลือกดึงเส้นด้ายที่จุดใด ไปในทิศไหน อาจเป็นไปได้หลากหลาย ไม่มีอันไหนถูกที่สุด หรือผิดที่สุด แต่...  เมื่อเราดึงไปครั้งหนึ่ง มันจะส่งผลแบบหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกัน

แต่ถ้าใครเลือกข้อ (ง)  ขอให้ลองย้อนกลับไปอ่านตั้งแต่ PROBLEM # 0  ใหม่อีกรอบนะ !!

ส่วนตัวเลือก (ก)  หรือ (ข) มักนำพาไปหา "ทางออก"  "วิธีคิด"  "action plan"  บางอย่าง ที่เราหวังว่าจะสามารถทำลาย หรืออย่างน้อยก็ทดแทนกดทับ "ความเซ็ง" ได้

ซึ่งตัวเลือกนั้น ก็อาจได้ผลที่ดี หากมันพอเหมาะพอดีกับสถานการณ์    แต่...  ต้นเหตุของ "ความเซ็ง" อาจยังคงอยู่ และพร้อมจะเผยตัวขึ้นมาทำร้ายเราได้อีก เมื่อสิ่งที่นำมาใช้ทดแทนความเซ็ง นั้นจางคลายหรือหายไป

หลักการเบื้องต้นในการจัดการกับ "ปัญหา" คือการศึกษาและทำความเข้าใจ "ปัญหา" ให้แจ่มชัด โดยไม่หลบหนีปัญหา ไม่เอาความสุขชั่วคราวมากลบทับ ปกปิด ทดแทน แต่ต้องกล้าหาญ อดทน ใส่ใจ กับปัญหาตรงหน้า จนเห็นต้นตอ สาเหตุ ที่แท้จริงของปัญหา

สมมติว่า บทสนทนาข้างต้นดำเนินต่อไปในทำนองนี้....
"เซ็งจังเลยว่ะ"    "แกเซ็งอะไรเหรอ ... เล่าให้เราฟังได้ป่าว"
"ไม่มีอะไรหรอกแก  ก็แค่เบื่อๆ  อยากไปช้อปปิ้ง แต่แฟนฉันไม่ยอมไปด้วยเลยอ่ะ"

ประโยคถัดไปนี้ ตัวเลือก (ข) อาจจะเหมาะเจาะ และนำพาไปสู่ทางออก ก็ได้

หรือถ้าบทสนทนา เป็นไปอีกแบบล่ะ ...
"เซ็งจังเลยว่ะ" "แกเซ็งอะไรเหรอ ... เล่าให้เราฟังได้ป่าว"
"ไม่มีอะไรหรอกแก ก็แค่โกรธแฟนเราอ่ะ ชวนไปช้อปปิ้งกันพรุ่งนี้ she ก็ไม่ไป"
"เอาดีๆ  แกเซ็งที่ผู้ไม่เซอร์วิส หรือว่าแกติดใจที่ไม่ได้เสียตังค์"

พอถึงตอนนี้ เราอาจเห็นทางออกที่ต่างไป หากสาเหตุคือโกรธที่แฟนขัดใจแล้วทะเลาะกัน เราอาจชวนกันดูความสัมพันธ์ระหว่างแฟนกับเพื่อน อันอาจนำไปสู่ทางออกแบบ "กลับไปคุยกันดีๆ" หลังจากนั้นเพื่อนอาจได้รู้ว่า แฟนไม่ไปช้อปเพราะแม่เขาป่วยหนัก กำลังเครียด เลยตอบปฏิเสธห้วนๆ  ในกรณีเช่นนี้ - คดีพลิก - การชวนไปดูหนัง หรือช้อปปิ้ง อาจไม่ใช่ทางออกที่สวยเท่าไหร่

แต่ถ้าเพื่อนตอบว่า เซ็งเพราะเล็งกระเป๋าใหม่เอาไว้ อยากไปสอยมาให้ได้ก่อนใคร  ถ้าเป็นเช่นนี้ แม้แฟนเพื่อนจะไม่ไปด้วย เราก็ช่วยเปิดมือถือ ช้อปออนไลน์ ก็อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้แล้ว  (ถ้าไม่มีอะไรซับซ้อนซ่อนเงื่อนไปกว่านั้น เช่น "อยากได้กระเป๋าใบนั้น ด้วยเงินของแฟน"  หรือ "อยากได้กระเป๋าด้วยและแม่ของแฟนก็ป่วยด้วย")

ตัวอย่างทั้งหมดนี้ ชี้ให้เห็นว่า การด่วนหาทางออกไม่ใช่วิธีจัดการกับปัญหาที่ดีนัก ตราบใดที่เรายังไม่เข้าใจสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง

Mobirise

หลักข้อแรก ของการจัดการปัญหา คือการศึกษา ทำความเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ โดยไม่หนีปัญหา ไม่ด่วนสรุป ไม่รีบหาทางออกโดยที่ยังไม่เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง 

การจะเข้าใจปํญหาอย่างแท้จริง (ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นปัญหาอะไร ของใคร หรือปัญหาในใจของเราเอง) จำเป็นต้องอาศัยความใส่ใจ ความอดทน ที่จะมองดูปัญหานั้นอย่างตรงไปตรงมา ตามเนื้อผ้า ไม่เอนเอียงด้วยอคติ เข้าข้างตัวเอง เราจึงจะเห็นสาเหตุที่แท้จริง แล้ว "เกาได้ถูกที่คัน"  "นวดได้ถูกเส้น"  "จ่ายยาได้ถูกโรค"

เปรียบเหมือนคนปวดท้อง จะรีบหายากินเลยไม่ได้ แต่ต้องทนนิดนึง แล้วดูให้ชัดว่าปวดตรงไหน ปวดอย่างไร เมื่อรู้ว่าปวดเพราะไส้ติ่งอักเสบ จึงรู้ชัดว่าทางแก้ควรเป็นเช่นไร

อุปสรรคใหญ่ของเรื่องนี้คือในชีวิตจริง คนเรามักหนีปัญหา ... เซ็งก็ออกไปช้อป ไปหาอะไรกิน ไปสังสรรค์ โดยไม่สังเกตว่าในใจกำลังขุ่นเพราะเรื่องใดกันแน่ ที่ยิ่งแย่ คือปัญหาจริงๆ ก็ไม่ถูกแก้ แถมยัง (น้ำ) หนักขึ้น เพราะทางแก้ที่ไม่ถูกเรื่อง

“Opportunities lie in the place where the complaints are.”
Advice to Young People by Jack Ma, the founder of Alibaba.
(ฟังแบบย่อ ช่วง  3.52 - 5.31  //  ฟังจนจบ ช่วง 3.52 - 11.10 )


2.  การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา

PROBLEM # 2.1

อะไรคือสาเหตุของปัญหา "น้ำท่วมกรุงเทพ"
(ก)  ฝนตกหนัก
(ข)  ท่อระบายน้ำอุดตัน

คำตอบนั้น มีได้มากกว่า 2 ข้อแน่ๆ  

นี่ยังไม่พูดถึงคำตอบประเภทว่า เป็นเพราะ เวรกรรมเก่า เทพเจ้าบันดาล ฤกษ์ยามตกฟาก หรือความคิดแบบว่ามันเกิดขึ้นลอยๆ หาเหตุผลไม่ได้   เพราะความคิดเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ปลายทางว่า "เราแก้ไขอะไรไม่ได้" - จบ

กลับมาที่ ตัวอย่างคำตอบ 2 ข้อข้างต้น ซึ่งก็พอจะชี้ให้เห็นความแตกต่างได้ว่า คำตอบหนึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา (ขอเรียกว่า เงื่อนไขข้อจำกัด - constraint) ส่วนอีกคำตอบหนึ่งเป็นสาเหตุที่แก้ไขได้ (เรียกให้ต่างกันว่า สาเหตุ - cause)

การวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา จึงหมายถึงการหา causes ไม่ใช่ การนั่งด่า constraints (เติม s ด้วย)

PROBLEM # 2.2

อะไรคือสาเหตุของความกังวล เมื่อพบสิวบนหน้าผาก ก่อนออกเดต?
(ก)  การล้างหน้าไม่สะอาด
(ข)  ใจที่อยากจะ ต้องสวย ไร้สิว


ดูให้ชัด ว่าจะแก้ปัญหาใดกันแน่  ถ้าจะแก้ความกังวล สาเหตุคือข้อ ข  แต่ถ้าจะแก้ปัญหาสิว สาเหตุคือ ข้อ ก   

ในทางปฏิบัติ ตอนนี้ สิวไม่หายไปในทันทีแน่ๆ  (มันกลายเป็น constraint ของปัญหาความกังวล)  ถ้าเรายอมรับสิ่งที่เป็น ได้มากเพียงใด ความกังวลก็จะค่อยๆ ลดลงไปเพียงนั้น  สมมติว่าแฟนของเราชอบสิวกลางหน้าผาก ใจที่อยากไร้สิวก็หายไป เมื่อนั้นความกังวลก็หายไป แม้จะยังไม่ได้ล้างหน้า หรือรักษาสิว

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเรารักษาใจ แล้วจะไม่ล้างหน้า เพราะเราสามารถจะจัดการกับปัญหากังวลใจไปพร้อมกับจัดการปัญหาสิวไปพร้อมกันก็ได้ แต่ปัญหาส่วนใหญ่ในชีวิตคือเรารักษาแต่หน้า ลืมรักษาใจ เราพยายามแก้แต่ปัญหาสิว แต่ไม่หายกังวลใจเสียที

PROBLEM # 2.3

การร้อยด้ายเข้ารูเข็มไม่ได้สักที  เป็นเพราะสาเหตุใด?

สาเหตุของปัญหาหนึ่งๆ มักไม่ได้มีเพียงสาเหตุเดียว แต่มีหลายเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยงกัน และอาจเป็นเหตุผลซึ่งกันและกันก็ได้

การร้อยด้ายเข้ารูเข็มไม่ได้ อาจมีสาเหตุหลายอย่างประกอบกัน เช่น
(ก)  ด้าย : มีขนาดใหญ่ไป, มีความนิ่มหรืออ่อนตัวเกินไป, มีขนาดเล็กจนจับไม่ถนัด, ฯลฯ 
(ข)  รูเข็ม : มีขนาดเล็กไป, เป็นสนิมมีความฝืดมาก, มีความลื่นจนจับไม่ถนัด, ฯลฯ
(ค)  คน : มองเห็นไม่ชัด, มือสั่นเพราะหิวข้าว, มือเป็นแผลจึงจับไม่ถนัด, ฯลฯ
(ง)  สภาพแวดล้อม : แสงสว่างไม่เพียงพอ, ลมพัดแรง, ฝุ่นมากจนเข้าตา, ฯลฯ

และสาเหตุอย่างหนึ่ง ก็อาจเป็นเหตุ ของสาเหตุอีกอย่างหนึ่งด้วยก็ได้ เช่น แสงไม่พอ เป็นเหตุให้มองเห็นไม่ชัด ประกอบกับด้ายขนาดใหญ่ รูเข็มเป็นสนิม จึงร้อยด้ายไม่ได้

เมื่อเรารู้สาเหตุอย่างนี้ ก็สามารถหาทางแก้ไขสาเหตุแต่ละอย่างได้ เช่นเพิ่มแสงสว่าง และตัดปลายด้ายให้แหลม

การวิเคราะห์หาสาเหตุจึงจำเป็นต้องมองให้กว้างและลึก จึงจะเห็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องได้มากที่สุด และสืบสาวหาเหตุปัจจัยเชิงลึก เพื่อให้เห็นสาเหตุที่เป็นต้นตอที่แท้จริงให้ได้มากที่สุด  

จากตัวอย่างข้างต้น เราอาจพบสาเหตุในเบื้องต้นว่า คนมองเห็นไม่ชัด แต่ถ้าเราไม่ตั้งคำถามต่อ เราอาจไม่รู้ว่า การที่เขามองไม่ชัดนั้นเป็นเพราะสายตายาว หรือว่าแสงสว่างไม่พอ หรือเพราะสาเหตุอื่นใดแน่ ถ้าไม่รู้ชัด ก็ไม่อาจหาทางแก้ไขที่ถูกตรงได้ 

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่อง เพื่อนเซ็ง รองเท้าเกะกะ มีสิวเยอะ โคมไฟไม่ติด ปลูกต้นไม้ไม่งาม ฯลฯ ก็ล้วนมีสาเหตุมากมาย ถ้าเราสามารถรู้เข้าใจเหตุปัจจัยของปัญหาได้ชัดเจน ครอบคลุมมากเท่าใด เราก็มีโอกาสที่จะจัดสรร ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเหตุปัจจัยให้สอดคล้องกับผลลัพธ์ที่เป็นเป้าหมายได้มากขึ้นเท่านั้น

เทคนิคการคิดเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุ อาจทำได้ด้วยการตั้งคำถามเช่น What, When, Where, Why, How, What if  แล้วแจกแจงสาเหตุที่เป็นไปได้ทั้งหมด จากนั้นจึงวิเคราะห์ถึงน้ำหนัก นัยสำคัญ ความเป็นไปได้ เพื่อจะได้ทำการแก้ไข โดยเฉพาะสาเหตุหลักๆ  แต่ก็ไม่ควรละเลยสาเหตุลำดับรองๆ ด้วย  (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง  วิธีการคิดอย่างมีวิจารณญาณ - Critical thinking)

ผลการวิเคราะห์เหตุปัจจัยของปัญหา อาจแสดงได้ในรูปของ Causes-effects diagram เพื่ออธิบายความเชื่อมโยงของกระบวนการเหตุปัจจัยเท่าที่เรารู้ โดยอาจแสดงเป็นผัง เส้นตรง,​ วงกลม, ก้างปลาก็ได้  

Mobirise
Mobirise

อย่าหาว่าน้าสอน
รายการเจาะใจ EP.26 :
น้าเน็ก เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

เปิดใจน้าเน็ก  "ที่ปรึกษาปัญหาชีวิต"  คนใหม่ของชาวโซเชียล
จากรายการออนไลน์กระแสแรง "อย่าหาว่าน้าสอน"

น้าเน็กมองเห็นปัญหาอะไร ในชีวิตของคนที่โทรมาปรึกษาในรายการ ?

 1.  ประสบการณ์ ...
 2.  รูปแบบความคิด ...
 3.  วิธีแก้ปัญหา​ ...

PROBLEM # 2.4

ฝึกวิเคราะห์ปัญหา และสาเหตุของปัญหา จากเรื่องราวของผู้ที่โทรมาขอคำปรึกษา กรณีใดกรณีหนึ่ง จากกรณีตัวอย่างต่อไปนี้


3.  การกำหนดเป้าหมาย

PROBLEM # 3.1

อะไรคือเป้าหมายของการจัดการกับปัญหา "ความกังวล เมื่อพบสิวบนหน้าผาก ก่อนออกเดต" ? ......
(ก)  ไม่มีสิว
(ข)  ไม่มีความกังวล

ดูให้ชัด ว่าจะแก้ปัญหาใดกันแน่ ถ้าจะแก้ความกังวล เป้าหมายคือข้อ ข แต่ถ้าจะแก้ปัญหาสิว เป้าหมายคือ ข้อ ก 

ในทางปฏิบัติ เราอาจจัดการกับทั้ง 2 ปัญหาในเวลาเดียวกันก็ได้ เราอาจมีเป้าหมายหลายอย่าง หลายขั้น ก็ได้

แต่ถ้าขยายตัวอย่างนี้ให้ชัดขึ้น เป็น "ความกลัว เมื่อรู่ว่าใกล้จะตายเพราะเป็นโรคร้าย"  การจะมุ่งไปที่เป้าเพียงว่า "ต้องไม่ตาย" เพียงอย่างเดียว โดยไม่ให้ความสำคัญกับเป้า "ไม่กลัว"  อาจไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้มากนัก แต่หากเราตั้งเป้าที่​ "ไม่กลัว"  เราอาจมีใจที่พร้อมและมีศักยภาพเพิ่มขึ้นในการที่จะหาทางไปสู่เป้าหมายใหม่ว่า "ใช้ชีวิตที่มีให้ดีที่สุด และยาวนานที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้"  

เป้าหมายที่ดี ต้องชัดเจน ไม่คลุมเครือ  
การตั้งเป้าแบบ  "เราจะเรียนให้ดีที่สุด"  "เราจะเป็นคนที่ดีกว่าเดิม"  เป็นเพียงวาทกรรมที่เลื่อนลอย ไม่นำไปสู่วิธีปฏิบัติที่ชัดเจน แต่ถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดว่า "เราจะอ่านหนังสือบทนี้ ให้จบ และทำสรุปให้เสร็จในคืนนนี้" เราจะเห็นสิ่งที่ต้องทำได้ชัดเจนขึ้น

PROBLEM # 3.2

อะไรคือเป้าหมายของการแก้ปัญหา "การร้อยด้ายเข้ารูเข็มไม่ได้สักที"

เราอาจกำหนดเป้าหมายหลักคือ "เราต้องร้อยด้ายเข้ารูเข็มให้ได้เร็วที่สุด"  และเพื่อให้ได้เป้าหมายดังกล่าว เมื่อเรารู้ว่า สาเหตุของปัญหาชัดเจนว่า "แสงไม่พอ เป็นเหตุให้มองเห็นไม่ชัด ประกอบกับด้ายขนาดใหญ่ รูเข็มเป็นสนิม จึงร้อยด้ายไม่ได้" เราก็จะตั้งเป้าหมายขั้นต้นคือ 
- เพิ่มแสงสว่างให้เหมาะสม
- ทำปลายด้ายให้เล็กลง
- ทำรูเข็มให้ไม่มีสนิม และมีความลื่น เรียบ
เมื่อเรากำหนดเป้าหมายย่อยได้ชัดเจนแล้ว เราก็จะสามารถหาวิธีปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการแต่ละขั้นได้ง่ายขึ้น

การกำหนดเป้าหมายจึงต้องมีรายละเอียด มีเป้าหมายย่อยๆ เป็นลำดับ เป็นขั้นตอน สอดคล้องกับสภาพปัญหา

PROBLEM # 3.3

(ก)  เมืองที่เราอาศัยอยู่ มีปัญหาอะไรบ้าง 
(ข)  เมืองที่น่าอยู่ ควรมีลักษณะอย่างไรบ้าง

วิธีการกำหนดเป้าหมายอาจไม่ได้มาจากการตามแก้ทุกเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องเสมอไป เพราะบางสาเหตุอาจแก้ได้ยาก หรือเป็นข้อจำกัดที่แก้ไม่ได้  

การมองอีกมุมหนึ่ง โดยตั้งคำถามที่ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ ก็อาจทำให้เห็นเป้าหมายที่ชัดเจน และนำไปสู่การลงมือทำได้ง่ายกว่า แทนที่เราจะตามแก้ปัญหาของเมืองที่เป็น เราอาจเปลี่ยนมาช่วยกันคิดว่า
- ถ้าเราจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่สุด เราอยากให้เมืองของเราเป็นอย่างไร
- เราอยากเปลี่ยนแปลงอะไร ถ้าเราเป็นผู้บริหารเมืองนี้
การคิดแบบนี้เรียกว่า Design thinking เป็นการสร้างผลลัพธ์ในอนาคตที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ตอบโจทย์ตลอดจนแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์อีกด้วย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง วิธีการคิดเชิงออกแบบ)


4  การกำหนดกระบวนการปฏิบัติ
การลงมือปฏิบัติ และการติดตามประเมินผล

PROBLEM # 4.1

จะต้องทำอย่างไร จึงจะ "ร้อยด้ายเข้ารูเข็มให้ได้เร็วที่สุด"

จากเป้าหมายหลัก ย้อนกลับไปสู่เป้าหมายย่อย และแต่ละเป้าหมายย่อย ก็จะมีวิธีทำได้มากมาย
- เพิ่มแสงสว่างให้เหมาะสม :  อาจทำได้ด้วยการติดโคมไฟ, ใช้กล้องถ่ายแล้วปรับเพิ่มความสว่าง, ฯลฯ
- ทำปลายด้ายให้เล็กลง : อาจทำได้ด้วยการใช้กรรไกรตัดเฉียงๆ, เอาปลายด้ายแตะน้ำลาย, เปลี่ยนด้าย, ฯลฯ
- ทำรูเข็มให้ไม่มีสนิม และมีความลื่น เรียบ : อาจทำได้ด้วยการแช่น้ำมะนาว, ใช้แปรงขัด, เปลี่ยนเข็ม, ฯลฯ
การจะบรรลุเป้าหมายได้นั้น อาจต้องมีการกระทำมากกว่า 1 วิธี และอาจต้องมีลำดับขั้นตอนที่เหมาะสมดัวย 

ความสามารถในการหาทางออก (Solutions finding) จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการคิดที่มีสมดุลของลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ
- ความสร้างสรรค์ แปลกใหม่ ไม่ติดกับสิ่งเดิมๆ (Creativity, Artistry)
- ความรู้ ประสบการณ์ ที่จะทำให้ความคิดนั้นอยู่บนฐานความจริง ความเป็นไปได้  (Practicality, Applicability)
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง วิธีการคิดสร้างสรรค์ และการคิดเชิงกลยุทธ์)

ในบรรดาทางออกที่เป็นไปได้จำนวนมาก เราจะต้องทำการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ความคุ้มค่า แล้วเลือกชุดการกระทำจำนวนหนึ่งที่ประกอบกันเป็นขั้นตอนแล้วจะสามารถนำไปสู่เป้าหมายได้ เรียกว่าแผนการทำงาน หรือโครงการ 

การที่จะเลือก solution เพื่อสร้างเป็นแผนการทำงานที่ดี ต้องเกิดจากความเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ที่เกี่ยวข้องในงานนั้นๆ  (SWOT) รวมทั้ง บริบทแวดล้อม และการคาดการณ์อนาคต ที่แม่นยำ

สิ่งสำคัญในขั้นตอนนี้คือการลงมือทำตามแผนงานที่วางไว้ เพราะหากแนวคิดในการจัดการปัญหาจะดีเพียงใด หากไม่มีการลงมือปฏิบัติก็เปล่าประโยชน์ เมื่อลงมือแล้ว อาจพบข้อบกร่อง หรือปัญหาอื่นๆ ก็ย้อนกลับมาสู่กระบวนการแก้ปัญหา เพื่อปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป กระบวนการทำงานนี้เรียกว่า PDCA (Plan Do Check Act)

PROBLEM # 4.2

จากปัญหาการวางรองเท้าเกะกะขวางทางเข้าห้องกิจกรรม เราสามารถวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา กำหนดเป้าหมาย และออกแบบโครงการเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างไรได้บ้าง

เมื่อจะนำเสนอโครงการแต่ละโครงการนั้น ควรจะมีรายละเอียดของโครงการอย่างไรบ้าง 

ในการแก้ไขปัญหาหนึ่งๆ อาจต้องมีการดำเนินการโครงการย่อยๆ อย่างสอดคล้องเชื่อมโยงกันเป็นแผนงานใหญ่ (Master plan)  

การเขียนโครงการ โดยทั่วไป มักแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.  ชื่อโครงการ
2.  หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ
3.  ผู้รับผิดชอบโครงการ
4.  หลักการและเหตุผล
5.  วัตถุประสงค์และเป้าหมาย
6.  วิธีดําเนินการ
7.  แผนปฏิบัติงาน
8.  ระยะเวลาในการดําเนินโครงการ
9.  งบประมาณและทรัพยากรที่ต้องใช้
10. การติดตามและประเมินผลโครงการ

ส่วนที่ 4 เป็นการอธิบายสภาพปัญหา และสาเหตุ
ส่วนที่ 5 เป็นการอธิบายเป้าหมายของการจัดการปัญหา
ส่วนที่ 6 - 10 เป็นการอธิบายแนวทางในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายของการจัดการปัญหา

วิธีการอธิบาย วิธีดำเนินการอาจแสดงในรูปของข้อความเป็นลำดับข้อก็ได้ แต่ถ้างานนั้นมีความซับซ้อน และมีคนที่เกี่ยวข้องหลายคนในแต่ละช่วงเวลา มักแสดงแผนผังการทำงานในรูป Gantt chart (ศึกษารายละเอียด เรื่องการบริหารเวลา และการบริหารกำลังคน)  แต่ถ้ากระบวนการทำงานต้องมีการตัดสินใจ ตามเงื่อนไขและข้อมูลแต่ละขั้นตอน มักแสดงในรูปของ Flow chart (ศึกษารายละเอียด เรื่อง Flow chart)

ตัวอย่าง Gantt chart

ตัวอย่าง Flow chart


สรุป หลักการจัดการปัญหา : อริยสัจ 4

หลักการหรือสาระสําคัญของวิธีคิดแบบอริยสัจก็คือการเริ่มต้นจากปัญหา หรือความทุกข์ที่ประสบ โดยกําหนดรู้ ทําความเข้าใจปัญหาคือความทุกข์นั้นให้ชัดเจน แล้วสืบค้นหาสาเหตุเพื่อเตรียมแก้ไขในเวลาเดียวกัน กําหนดเป้าหมายของตนให้แน่ชัดว่าคืออะไร จะเป็นไปได้หรือไม่ และเป็นไปได้อย่างไร แล้วคิดวางวิธีปฏิบัติที่จะกําจัดสาเหตุของปัญหาโดยสอดคล้องกับกระบวนการเหตุปัจจัยที่จะบรรลุจุดหมายที่กําหนดไว้นั้น ในการคิดตามวิธีนี้จะต้องตระหนักถึงกิจหรือหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่ออริยสัจแต่ละข้ออย่างถูกต้องด้วย เพื่อให้มองเห็นเค้าความในเรื่องนี้ จะกล่าวถึงหลักอริยสัจ และวิธีปฏิบัติเป็นขั้นๆ โดยย่อดังนี้

Mobirise

ทุกข์ ​(ปัญหา) :
ต้องไม่หนีปัญหา ศึกษาเข้าใจสภาพปัญหาที่แท้

สมุทัย (สาเหตุของปัญหา) :
ต้องลด ละ ต้นเหตุที่แท้ ไม่มัวแก้เงื่อนไขข้อจำกัดที่แก้ไม่ได้

นิโรธ (เป้าหมาย) :
ต้องมุ่งไปให้ถึงเป้าหมายที่ถูกตรง ที่ดับต้นตอของปัญหา ไม่ใช่แค่บรรเทาปัญหา

มรรค (แนวทางปฏิบัติไปสู่เป้าหมาย) :
ต้องลงมือทำจริง ให้ถูกต้องครบถ้วน ผลสำเร็จจึงจะปรากฏ

  1. ทุกข์ คือสภาพปัญหา ความคับข้อง ติดขัด กดดัน บีบคั้น บกพร่อง ที่เกิดมีแก่ชีวิต หรือที่คนได้ประสบ ...

    สําหรับทุกข์นี้เรามีหน้าที่เพียงกําหนดรู้ คือทําความเข้าใจและกําหนดขอบเขตให้ชัด เหมือนอย่างแพทย์กําหนดรู้ หรือตรวจให้รู้ว่าเป็นอาการของโรคอะไร เป็นที่ไหน เราไม่มีหน้าที่เอาทุกข์มาครุ่นคิด มาแบกไว้ หรือคิดขัดเคือง เป็นปฏิปักษ์กับความทุกข์ หรือมัวห่วงกังวลอยากหายทุกข์ เพราะคิดอย่างนั้นมีแต่จะทําให้ทุกข์เพิ่มขึ้น

    แม้เราอยากจะแก้ทุกข์ให้หมดไป แต่เราก็แก้ทุกข์ด้วยความอยากไม่ได้  เราต้องแก้ด้วยการเข้าไปรู้จักสภาพปัญหาให้ชัดเจนจนเข้าใจสาเหตุและกำจัดสาเหตุให้ได้  ด้วยจิตใจที่มั่นคง  

  2. พอรู้สภาพปัญหา ที่เปรียบเหมือนอาการความเจ็บป่วยชัดเจนแล้ว ก็จะสามารถสืบสาวหาสาเหตุของอาการผิดปกตินั้นได้ สมุทัยได้แก่ตัวเชื้อโรค ที่เราจะต้องกำจัด หรือความบกพร่องทำงานผิดปกติของร่างกายที่จะต้องปรับแก้ มิใช่การกำจัดตัวโรคหรืออาการ เช่นเราไม่อาจขจัดอาการปวดท้องได้โดยตรง แต่เราขจัดการอักเสบของไส้ติ่งที่เป็นสาเหตุของความปวดท้อง  หรือกำจัดแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการปวดท้อง

    อาจพูดให้ง่ายว่า สมุทัยก็คือความคาดหวังให้สิ่งต่างๆ เป็นไปอย่างที่ใจเราปรารถนา เพื่อให้ได้การสนองความต้องการของตัวเรา เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ตัณหา ซึ่งต่างจากความอยากอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า ฉันทะ ซึ่งเป็นความอยากที่จะทำให้เกิดผลดีตามสภาวะ เช่นการรับประทานอาหารเพื่อผลดีต่อสุขภาพร่างกาย มิใช่การกินเพื่อได้เสพรสอร่อย  (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม เรื่องตัณหา-ฉันทะ ได้ในหนังสือพุทธธรรม บทที่ ๒๑)

    สรุปว่า สมุทัย คือเหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ได้แก่เหตุปัจจัยต่างๆ ที่เข้าสัมพันธ์ ขัดแย้ง ส่งผลสืบทอดกันมาจนปรากฏเป็นสภาพบีบคั้น กดดัน คับข้อง ติดขัด อึดอัด บกพร่อง ในรูปต่างๆ แปลกๆ กันไป อันจะต้องค้นหาให้พบ แล้วทําหน้าที่ต่อมันให้ถูกต้อง คือกําจัด หรือละเสีย โดยไม่ต้องมีอารมณ์โกรธเคือง ขุ่นแค้นต่อตัวสาเหตุนั้น

  3. เมื่อจะกำจัดโรค เราต้องมีเป้าหมายว่าจะทำได้แค่ไหน จุดหมายที่เราต้องการคืออะไร นี่คือ นิโรธ คือภาวะหมดหรือปราศจากต้นเหตุของปัญหา เป็นจุดหมายที่อาจจะไกลกว่าเพียงการยุติปัญหา ซึ่งเรามีหน้าที่ทําให้เป็นจริง ทําให้สําเร็จ ในขั้นนี้จะต้องกําหนดได้ว่าจุดหมายที่ต้องการคืออะไร การที่ปฏิบัติอยู่นี้ หรือจะปฏิบัติ นั้นเป็นไปเพื่ออะไร จุดหมายนั้นเป็นไปได้หรือไม่ เป็นไปได้อย่างไร มีหลักการในการเข้าถึงอย่างไร มีจุดหมายรอง หรือจุดหมายลดหลั่น แบ่งเป็นขั้นตอนในระหว่างได้อย่างไรบ้าง

  4. มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือวิธีแก้ไขปัญหา ได้แก่ วิธีการและรายละเอียด สิ่งที่จะต้องปฏิบัติเพื่อกําจัดเหตุปัจจัยที่เป็นต้นตอของปัญหาให้เข้าถึงจุดหมายที่ต้องการ เรามีหน้าที่ฝึกฝน ลงมือทำ เช่น ผ่าตัด ให้ยา และให้คนไข้ปฏิบัติตัวบริหารร่างกาย ตามแนวทางที่คิดวางแผนไว้ เพื่อให้เกิดผลคือการกำจัดสาเหตุของโรค ส่งผลให้สภาวะโรคนั้นหายไป บรรเทาหรือยุติลง


    สรุปความและอธิบายจาก
    - สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์, วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม.
    -  สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์, ทุกข์สำหรับเห็นแต่สุขสำหรับเป็น.
Mobirise

Exercise & Application

ฝึกวิเคราะห์ปัญหาที่แท้จริง, สาเหตุของปัญหา
ของผู้ที่โทรมาขอคำปรึกษา กรณีใดกรณีหนึ่ง
จากกรณีตัวอย่างต่อไปนี้

Mobirise

***** Editor's choice
Recommended Movie | You should see in your Lifetime.

The Matrix   (1999 ‧ Sci-fi/Action ‧ 2h 30m)
Thomas Anderson, a computer programmer, is led to fight an underground war against powerful computers who have constructed his entire reality with a system called the Matrix.

ภาพยนตร์นำเสนอโลก "เมทริกซ์" ซึ่งเป็นโลกจำลองที่เหล่าเครื่องจักรสร้างขึ้นเพื่อควบคุมมนุษย์ เดอะ เมทริกซ์ยังอ้างถึงแนวคิดทางศาสนาและปรัชญาจำนวนมาก รวมไปถึงวัฒนธรรมแฮกเกอร์ มีกลิ่นอายของโลกตะวันออกโดยเฉพาะญี่ปุ่น

(Movie Trailer)    (สรุปเนื้อหา ภาค 1 - 3 - สปอย!!)  


Site was created with Mobirise