| |
โลกถูกทำลายด้วยน้ำ   |  

ส่วนในสมัยที่กัปป์ถูกทำลายด้วยน้ำนั้น ก็มีความเป็นไปคล้ายกันกับกัปป์ที่ถูกทำลายด้วยไฟ ดังกล่าวแล้วนั่นแหละ ต่างกันแต่ว่าในเรื่องกัปป์ถูกทำลายด้วยไฟนั้น ดวงอาทิตย์ดวงที่ ๒ เป็นต้นปรากฏขึ้น แต่ในเรื่องกัปป์ถูกทำลายด้วยน้ำนี้ มหาเมฆน้ำกรดที่ทำลายกัปป์ตั้งขึ้น ฝนน้ำกรดนั้นเริ่มแรกก็หลั่งเม็ดละเอียดลงมาด้วยท่อธารใหญ่ จนเต็มทั้งแสนโกฏิจักรวาลโดยลำดับ แผ่นดินและภูเขาเป็นต้นที่ฝนน้ำกรดตกลงมาถูกต้องแล้วย่อมละลายหายไป น้ำกรดนั้นแม้จะถูกลมกระพือพัดอย่างแรง ก็สามารถต้านทานได้โดยรอบด้าน ไม่กระจัดกระจายหรือเหือดแห้งหายไปแต่อย่างใด น้ำกรดนั้นท่วมตั้งแต่แผ่นดินจนถึงพรหมโลกชั้นทุติยฌานภูมิ ทำพรหมโลก ๖ ชั้นให้ละลายในที่นั้นแล้ว ขังอยู่จนจรดพรหมโลกชั้นสุภกิณหา น้ำกรดนั้นถ้ายังมีสิ่งที่นับว่าเป็นสังขารเหลืออยู่แม้เพียงอณูหนึ่งตราบใด ก็จะยังคงไม่ระงับเหือดแห้งหายไปตราบนั้น ต่อเมื่อท่วมสังขารทุกอย่างให้แตกสลายละลายหายไปหมดแล้ว จึงจะงวดแห้งหายไปโดยฉับพลัน อากาศเบื้องบนกับเบื้องล่างได้มืดมิดเป็นพื้นเดียวกัน ต่อมาเมื่อวันเวลาล่วงไปนับประมาณมิได้ พื้นแผ่นโลกชั้นอาภัสสรพรหมเป็นต้นก็ปรากฏขึ้น ต่อมาสัตว์ที่จุติจากสุภกิณหาพรหมแล้วย่อมบังเกิดขึ้นในอาภัสสรพรหมเป็นต้นนั้น

ในอสังไขยทั้ง ๔ เหล่านั้น ตั้งแต่มหาเมฆทำลายกัปป์ตั้งขึ้นจนถึงหมดน้ำกรดทำลายกัปป์นี้ จัดเป็นอสังไขยที่ ๑ ตั้งแต่น้ำกรดแห้งหายไปจนถึงมหาเมฆตกลงมาจนเต็มพื้นที่ นี้จัดเป็นอสงไขยที่ ๒ ตั้งแต่มหาเมฆตกเต็มที่จนถึงพระจันทร์และพระอาทิตย์ปรากฏ นี้จัดเป็นอสงไขยที่ ๓ ตั้งแต่พระจันทร์และพระอาทิตย์ปรากฏขึ้นมาจนถึงมหาเมฆทำลายกัปป์ตั้งขึ้นใหม่อีก นี้จัดเป็นอสงไขยที่ ๔ อสงไขยทั้ง ๔ นี้จัดเป็น ๑ มหากัปป์ ความพินาศด้วยน้ำและการตั้งขึ้นใหม่แห่งกัปป์นี้ นักปราชญ์พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในเรื่องกัปป์ที่ถูกทำลายด้วยไฟรุ.๗๐๕


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |