| |
พระพุทธคุณที่ท้าวสักกเทวราชทรงสรรเสริญ ๘ ประการ   |  

๑. ทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ชนหมู่มาก

๒. ทรงตรัสพระธรรมไว้ดีแล้ว ซึ่งบุคคลพึงเห็นตามได้ด้วยตนเอง

๓. ทรงบัญญัติสิ่งที่เป็นกุศล อกุศล มีโทษ ไม่มีโทษไว้ดีแล้ว

๔. ทรงบัญญัติข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพานเพื่อพระสาวกไว้ดีแล้ว

๕. ไม่ทรงยึดติดเหล่าบริษัทบริวาร ทรงยินดีอยู่ลำพังพระองค์เดียว

๖. แม้จะทรงมีลาภสักการะมากมาย แต่ก็ทรงปราศจากความมัวเมา

๗. ทรงมีปกติตรัสอย่างใด ทำอย่างนั้น ทรงทำอย่างไร ตรัสอย่างนั้น

๘. ทรงข้ามพ้นความสงสัย ปราศจากความคลางแคลงพระทัย

ดังหลักฐานที่มาในมหาโควินทสูตร พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค ซึ่งท้าวสักกเทวราชผู้เป็นจอมแห่งเทพชั้นดาวดึงส์ได้ทรงยกพระพุทธคุณ ๘ ประการของพระพุทธเจ้าขึ้นแสดงแก่ทวยเทพชั้นดาวดึงส์ว่า “ทวยเทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญทั้งหลาย จะสำคัญข้อความนั้นเป็นไฉน คือ

๑. พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ เรายังไม่เคยเห็นในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระพุทธเจ้าพระองค์นี้เท่านั้น

๒. พระธรรมอันพระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาใส่ตน อันวิญญูชนรู้ได้เฉพาะตน ศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ เรายังไม่เคยเห็นในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระพุทธเจ้าพระองค์นี้เท่านั้น

๓. พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า นี้กุศล นี้อกุศล นี้มีโทษ นี้ไม่มีโทษ นี้ควรเสพ นี้ไม่ควรเสพ นี้เลว นี้ประณีต นี้เป็นธรรมดำ นี้เป็นธรรมขาว และมีส่วนเทียบได้ เป็นต้น ศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ เรายังไม่เคยเห็นในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระพุทธเจ้าพระองค์นี้เท่านั้น

๔. พระพุทธเจ้าทรงบัญญัตินิพพานคามินีปฏิปทา [ข้อปฏิบัติให้ถึงพระนิพพาน] เพื่อพระสาวกทั้งหลายไว้ดีแล้ว พระนิพพานและปฏิปทาของพระนิพพานนั้นย่อมเทียบเคียงกันได้ ดุจน้ำในแม่น้ำคงคากับน้ำในแม่น้ำยมุนา ย่อมเทียบเคียงเข้ากันได้ ศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ เรายังไม่เคยเห็นในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระพุทธเจ้าพระองค์นี้เท่านั้น

๕. พระพุทธเจ้าทรงได้พระเสขะผู้ดำรงอยู่ในปฏิปทาและพระขีณาสพผู้อยู่จงพรหมจรรย์แล้วเป็นสหาย แต่พระพุทธเจ้าย่อมไม่ทรงติดในบุคคลเหล่านั้น ทรงประกอบความเป็นผู้ยินดีอยู่เพียงพระองค์เดียว ศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ เรายังไม่เคยเห็นในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระพุทธเจ้าพระองค์นี้เท่านั้น

๖. ลาภสักการะและความสรรเสริญย่อมเกิดแก่พระพุทธเจ้า อันกษัตริย์ทั้งหลายย่อมทรงยินดีกันนัก แต่พระพุทธเจ้าทรงเสวยพระกระยาหารโดยปราศจากความมัวเมาในลาภสักการะและความสรรเสริญ ศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ เรายังไม่เคยเห็นในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระพุทธเจ้าพระองค์นี้เท่านั้น

๗. พระพุทธเจ้าทรงมีปรกติตรัสอย่างไรทำอย่างนั้น ทรงทำอย่างไรตรัสอย่างนั้น ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงได้พระนามว่า “พระตถาคต” ศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ เรายังไม่เคยเห็นในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระพุทธเจ้าพระองค์นี้เท่านั้น

๘. พระพุทธเจ้าทรงข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ทรงปราศจากความคลางแคลงสงสัย มีความดำริถึงที่สุดด้วยข้อปฏิบัติอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ซึ่งเป็นที่อาศัยอย่างยวดยิ่ง ศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ เรายังไม่เคยเห็นในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็น นอกจากพระพุทธเจ้าพระองค์นี้เท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |