| |
จริตที่เป็นคู่กัน   |  

ราคจริต คู่กับ สัทธาจริต

โทสจริต คู่กับ พุทธิจริต

โมหจริต คู่กับ วิตกจริต

ราคจริตคู่กับสัทธาจริตนั้น เพราะมีลักษณะอาการความเป็นไปคล้ายกัน คือ

๑. อิริยาบถ อิริยาบถมีคล้ายคลึงกัน คือ เรียบร้อย แช่มช้อย นุ่มนวล ละมุนละไม ไม่รีบร้อน

๒. กิจจะ ลักษณะการงานที่ทำ ก็คล้ายคลึงกัน คือ มีระเบียบเรียบร้อย สวยงาม วิจิตรบรรจง

๓. โภชนะ ลักษณะอาหารที่บริโภคก็คล้ายคลึงกัน คือ ชอบอาหารรสหวานมันหอม รสชาติกลมกล่อม ตกแต่งสีสันให้น่ารับประทาน เวลารับประทานก็บรรจงทำคำแต่พอเหมาะ ไม่ใหญ่จนเกินไป

๔. ทัสสนะ สิ่งที่ชอบดูชอบชมก็คล้ายคลึงกัน คือ ชอบของสวยงามอย่างเรียบ ๆ ไม่โลดโผน ชอบฟังเสียงไพเราะ ชอบดูการเล่นที่ตลกขบขัน

แต่ราคจริตและสัทธาจริตย่อมมีความต่างกันที่ธรรมปวัตติและอารมณ์กรรมฐาน กล่าวคือ ราคจริตนั้นมีลักษณะเป็นคนเจ้าเล่ห์มายา มักโอ้อวด ถือตัว แง่งอน ชอบเอาแต่ใจตนเอง ชอบยอ มีอสุภะ ๑๐ และกายคตาสติ เป็นอารมณ์กรรมฐาน ส่วนสัทธาจริตนั้น มีลักษณะซื่อสัตย์ โปร่งใสเบิกบาน น้อมใจไปในทางที่เป็นกุศลได้ง่ายและมีอนุสสติ ๖ มีพุทธานุสสติ เป็นต้น เป็นอารมณ์กรรมฐาน

โทสจริตคู่กับพุทธิจริตนั้น เพราะมีลักษณะอาการความเป็นไปคล้ายกัน คือ

๑. อิริยาบถ อิริยาบถมีความคล้ายคลึงกัน คือ รีบร้อน ว่องไว ปราดเปรียว

๒. กิจจะ ลักษณะการงานที่ทำ มีความคล้ายคลึงกัน คือ มีระเบียบเรียบร้อย

๓. โภชนะ ลักษณะอาหารที่บริโภคคล้ายคลึงกัน คือ ชอบอาหารมีรสเปรี้ยว รสเค็ม รสขม รสฝาด รสเผ็ด

แต่โทสจริตและพุทธิจริตนี้ ย่อมมีความต่างกันที่ทัสสนะ ธรรมปวัตติ และอารมณ์กรรมฐาน กล่าวคือ โทสจริตนั้น ชอบดูชอบชมสิ่งที่ไม่ค่อยเป็นสาระ เช่น การชกต่อยกัน การรบราฆ่าฟันกัน เป็นต้น มีลักษณะเป็นคนมักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่คุณท่าน ตีเสมอ มักอิจฉาริษยา และมีอัปปมัญญา ๔ วัณณกสิณ ๔ เป็นอารมณ์กรรมฐาน ส่วนพุทธิจริตนั้น ชอบดูชอบชมสิ่งที่เป็นสาระและรับชมด้วยการพินิจพิจารณา มีลักษณะเป็นคนว่าง่ายสอนง่าย ไม่ดื้อด้าน มีสติสัมปชัญญะ มีความเพียร รู้เร็ว เข้าใจอะไรได้ง่าย และมีมรณานุสสติ อุปสมานุสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัตถาน เป็นอารมณ์กรรมฐาน

โมหจริตคู่กับวิตกจริตนั้น เพราะมีลักษณะอาการความเป็นไปคล้ายกัน คือ

๑. อิริยาบถ อิริยาบถมีความคล้ายคลึงกัน คือ เซื่องซึม เชื่องช้าอืดอาด เลื่อนลอย ขาดความคล่องแคล่ว

๒. กิจจะ ลักษณะการงานที่ทำ คล้ายคลึงกัน คือ การงานหยาบ ไม่เรียบร้อย ไม่เป็นล่ำเป็นสัน จับจด คั่งค้าง เอาดีไม่ค่อยได้

๓. โภชนะ ลักษณะอาหารที่บริโภค คล้ายคลึงกัน คือ ไม่เลือกอาหาร อย่างไรก็รับประทานได้ เวลารับประทาน มีอาการมูมมาม ไม่สำรวม ทำเมล็ดข้าวร่วงหล่นกระจัดกระจาย

๔. ทัสสนะ สิ่งที่ชอบดูชอบชม คล้ายคลึงกัน คือ ไม่แน่นอนเห็นตามหมู่มาก เขาเห็นดีก็ว่าดีตาม เขาเห็นไม่ดีก็ว่าไม่ดีตามไปด้วย

๕. กรรมฐานที่เหมาะ มีอารมณ์กรรมฐาน เหมือนกัน คือ อานาปานสติ

แต่โมหจริตและวิตกจริตนี้ มีความต่างกันที่ธรรมปวัตติ กล่าวคือ โมหจริตนั้นมีลักษณะเซื่องซึม มักง่วงเหงาหาวนอนอยู่เสมอโดยไม่เป็นเรื่องเป็นราว ขี้สงสัย เข้าใจอะไรได้ยาก ส่วนวิตกจริตนั้น มีลักษณะฟุ้งซ่าน โลเล เดี๋ยวรักเดี๋ยวเกลียด ชอบคลุกคลีกับหมู่คณะโดยไม่เป็นสาระ

เพราะฉะนั้น จริตต่าง ๆ ถึงแม้จะมีลักษณะความเป็นไปที่เหมือนกันบ้าง แต่ก็มีสิ่งที่ทำให้แตกต่างกัน จึงทำให้สัตว์ทั้งหลายเกิดมามีนิสัยไม่เหมือนกัน ทั้งนี้เป็นเพราะการสั่งสมมาไม่เหมือนกัน ความคิดจิตใจและความรู้สึกในขณะทำกรรมนั้น ๆ ของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกัน จึงทำให้มีจริต ๖ ประเภท ดังกล่าวแล้ว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |