| |
ทิฏฐิ   |  

ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น แต่โดยสภาพแล้วเป็นอกุศลเจตสิก จึงหมายถึง ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม หรือ ความเห็นผิดจากสภาพความเป็นจริงของ สิ่งทั้งปวง เมื่อสรุปแล้ว มี ๒ ประการ คือ

๑. สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่า โลกและสัตว์ทั้งหลายเที่ยง

๒. อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่า โลกและสัตว์ทั้งหลายขาดสูญ

อุจเฉททิฏฐิ ๓ อย่าง

๑. อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่า เหตุไม่มี หมายความว่า กรรมที่ทำแล้วไม่มีผล หรือไม่ส่งผลให้ได้รับต่อไปในภายหน้า

๒. นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่า ผลไม่มี หมายความว่า ผลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่มีเหตุให้เกิด เกิดขึ้นมาเอง หรือ เกิดจากเทพเจ้าดลบันดาลให้

๓. อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่า ไม่เป็นอันทำ หมายความว่า การกระทำทุกอย่าง ไม่เป็นบาป ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นเหตุ และไม่มีผล สักแต่ว่า ทำ เท่านั้น

นัตถิกทิฏฐิ ๑๐ อย่างจิ.๔

๑. นัตถิ ทินนัง เห็นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล

๒. นัตถิ ยิฏฐัง เห็นว่า การบูชาไม่มีผล

๓. นัตถิ หุตัง เห็นว่า การต้อนรับเชื้อเชิญไม่มีผล

๔. นัตถิ สุกะตะทุกกะฏานัง กัมมานัง ผะลัง วิปาโก เห็นว่า วิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่ว ที่ทำแล้ว ไม่มีผล

๕. นัตถิ อะยัง โลโก เห็นว่า โลกนี้ไม่มี คือ สัตว์ที่ตายแล้วจะมาเกิดในโลกนี้ไม่มี

๖. นัตถิ ปะโร โลโก เห็นว่า โลกหน้าไม่มี คือ สัตว์ที่ตายแล้ว จะไปเกิดในโลกหน้าอีก ไม่มี

๗. นัตถิ มาตา เห็นว่า มารดาไม่มีคุณ คือ การทำดีทำชั่วต่อมารดาไม่มีผล

๘. นัตถิ ปิตา เห็นว่า บิดาไม่มีคุณ คือ การทำดีทำชั่วต่อบิดาไม่มีผล

๙. นัตถิ สัตตา โอปะปาติกา เห็นว่า สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นเองเติบโตขึ้นทันที ไม่มี

๑๐. นัตถิ โลเก สะมะณะพ๎ราห๎มะณา สะมัคคะตา สัมมาปฏิปันนา อัตตะนา สัจฉิกัต๎วา อิมัง โลกัง วิภาเวต๎วา ปะเรสัง ปะเวเทนติ เห็นว่า สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ที่ดำเนินไปโดยชอบ ปฏิบัติชอบแล้วกระทำให้แจ้งรู้เห็นตามเป็นจริงด้วยตนเอง ยังโลกนี้ให้สว่าง แล้วประกาศบอกแก่บุคคลอื่น [ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า] ไม่มีในโลก

เมื่อบุคคลมีความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น ตามสมควรแก่เหตุปัจจัยนั้น ๆ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |