| |
กุศลจิตมี ๕ ประเภท คือ   |  

๑. มหากุศลจิต หมายถึง จิตที่ประกอบด้วยเจตนาที่ดีงาม เป็นจิตที่ไม่มีโทษและให้ผลเป็นความสุข ทั้งยังสามารถให้ผลเกิดขึ้นได้มากกว่าตน และเป็นกุศลที่เป็นบาทเบื้องต้นแห่งมรรค ผล ฌาน อภิญญา อีกด้วย หมายความว่า มหากุศลจิตนี้เป็นพื้นฐานของความดีงามทุกอย่าง ทั้งความดีในระดับเบื้องต้น คือ ทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น และความดีในระดับปานกลาง คือ ฌาน อภิญญา จนถึงความดีในระดับสูงสุด คือ มรรค ผล อนึ่ง ฌานกุศล และโลกุตตรกุศล จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมีมหากุศลจิตเกิดขึ้นเป็นบาทฐานเสมอ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การฝึกฝนเจริญสมถกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐาน ตั้งแต่บริกรรมภาวนา จนถึงอุปจารภาวนานั้น ชวนจิตที่เป็นมหากุศลจิต ย่อมเกิดขึ้นสืบเนื่องกันไป และสั่งสมเป็นพลวะปัจจัยจนมีกำลังมากขึ้นโดยลำดับจนถึงอัปปนาภาวนาในอัปปนาวิถีแล้วจึงจะเปลี่ยนจากมหากุศลจิตมาเป็นโลกุตตรกุศลจิตหรือฌานกุศลจิต กล่าวคือ ในฝ่ายสมถกรรมฐานนั้น สภาพของกุศลจิตก็จะเปลี่ยนไปเป็นฌานกุศลจิตหรืออภิญญากุศลจิต ในฝ่ายวิปัสสนาภาวนานั้น สภาพของกุศลจิตก็จะเปลี่ยนไปเป็นโลกุตตรกุศลจิตหรือมรรคจิต อนึ่ง แม้ในขณะแห่งอัปปนาวิถี มีฌานวิถี มรรควิถี อภิญญาวิถี ของติเหตุกปุถุชนหรือพระเสกขบุคคล ๓ ก็ต้องมีมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตเกิดขึ้นก่อน โดยทำหน้าที่อุปจาร อนุโลม และโคตรภู หรือโวทาน ต่อจากนั้น ฌานกุศลจิต มรรคจิต หรือ อภิญญากุศลจิต เป็นต้น จึงจะเกิดขึ้นต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้ มหากุศลจิต จึงได้ชื่อว่า เป็นบาทเบื้องต้นแห่งมรรค ผล ฌาน อภิญญา ดังกล่าวแล้ว เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กามาวจรกุศลจิต

๒. รูปาวจรกุศลจิต หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นโดยการเจริญสมถภาวนาโดยอาศัยบัญญัติของรูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ จิตที่เริ่มเพ่งจับบัญญัติอารมณ์ในตอนแรกนั้น ย่อมเป็นมหากุศลจิต สมาธิที่ประกอบกับมหากุศลจิตนั้นยังอยู่ในขั้นขณิกสมาธิและอุปจารสมาธิตามลำดับ เมื่อเจริญภาวนาเรื่อยไปจนสมาธินั้นแนบแน่นในอารมณ์เดียวเข้าถึงอัปปนาสมาธิแล้ว จิตก็จะเปลี่ยนจากมหากุศลจิต เป็นรูปาวจรกุศลจิต ซึ่งเกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน พร้อมกับการประหาณธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ของตนโดยวิกขัมภนปหาน เป็นกุศลจิตชนิดที่จะส่งผลให้ปฏิสนธิเป็นรูปพรหมในภูมิต่าง ๆได้ตามสมควรแก่ฌานจิตนั้น ๆ กล่าวคือ ปฐมฌานกุศลจิต ย่อมส่งผลเป็นปฐมฌานวิปากจิต ให้ปฏิสนธิในปฐมฌานภูมิ ๓ ดังนี้เป็นต้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า รูปฌานกุศลจิต

๓. อภิญญากุศลจิต หมายถึง กุศลจิตของติเหตุกปุถุชนและพระเสกขบุคคล ๓ ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการทำอภิญญาต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น และจัดเป็นกุศลจิต เพราะเป็นจิตที่แปรสภาพมาจากรูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษสำหรับผู้ได้อภิญญาในขณะที่ทำอภิญญาสมาบัติเท่านั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ได้ฌานโดยทั่วไป จึงไม่มีสภาวะต่างหากออกไปจากจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง หมายความว่า เป็นเพียงปฏิกิริยาพิเศษของรูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิตเท่านั้น อนึ่ง อภิญญากุศลจิตนี้ ไม่สามารถส่งผลเป็นวิปากจิตได้ เนื่องจากเป็นจิตที่เป็นเพียงปฏิกิริยาพิเศษของรูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิตเท่านั้น ไม่มีสภาวะพิเศษเฉพาะตนต่างหาก เหมือนกับกุศลจิตอื่น ๆ ดังกล่าวแล้ว

๔. อรูปาวจรกุศลจิต หมายถึง ฌานจิตที่เกิดขึ้นโดยการเจริญสมถภาวนาต่อจากรูปาวจรปัญมฌานกุศลจิตจนถึงอรูปาวจรกุศลจิตเกิดขึ้นและเป็นไปพร้อมด้วยการปรุงแต่งอรูปาวจรกุศลเจตนาไว้ให้ได้รับสมบัติความเป็นอรูปพรหมในอรูปภูมิในภพชาติหน้าและให้ได้เสวยสุขในอรูปฌานหรืออรูปสมาบัติในปัจจุบันภพนี้ด้วย ตราบเท่าระยะเวลาที่ฌานนั้นยังไม่เสื่อม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อรูปฌานกุศลจิต

๕. โลกุตตรกุศลจิต หมายถึง กุศลจิตที่ทำให้ข้ามพ้นจากวัฏฏะ กล่าวคือ การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกทั้ง ๓ ได้แก่ กามโลก รูปโลก อรูปโลก เรียกว่า วิวัฏฏคามินีกุศล แปลว่า กุศลที่ทำให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร หรือเรียกว่า อปจยคามินีกุศล แปลว่า กุศลที่ทำให้หลุดพ้นจากจุติและปฏิสนธิในภพภูมิทั้งหลาย เป็นกุศลจิตที่ทำให้ข้ามพ้นจากความเป็นปุถุชนสู่ความเป็นพระอริยบุคคลและจากความเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต่ำสู่ความเป็นพระอริยบุคคลเบื้องสูงตามลำดับ จนถึงความเป็นพระอรหันต์ในที่สุด เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นรับรู้โลกุตตรอารมณ์ คือพระนิพพานโดยส่วนเดียวและเป็นกุศลจิตที่มีอำนาจเหนือโลกียกุศลทั้งปวง กล่าวคือ เป็นกุศลที่สามารถประหาณอนุสัยกิเลสได้เป็นสมุจเฉทปหาน ด้วยการทำลายรากเหง้าแห่งอกุศลมูลทั้งปวงโดยสิ้นเชิง [ยกเว้นสกิทาคามิมรรคที่ประหาณได้เพียงการทำให้เบาบางลงเรียกว่า ตนุกรปหาน]


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |