| |
โทสเจตสิก   |  

โทสเจตสิก เป็นธรรมชาติที่มีความโกรธ ความไม่พอใจ ความไม่ชอบใจ ความหงุดหงิดใจ ความประทุษร้าย ได้แก่ สภาวธรรมที่ประทุษร้ายในอารมณ์ เมื่อได้ประสบกับอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์อันไม่น่าชอบใจ ไม่น่าปรารถนาสำหรับตนเอง ไม่ว่า อารมณ์นั้นจะเป็นสภาวอนิฏฐารมณ์หรือปริกัปปอนิฏฐารมณ์ก็ตาม

สภาวอนิฏฐารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าชอบใจซึ่งเป็นไปโดยสภาพความเป็นจริง ที่บุคคลทั้งหลายหรือสัตว์ทั้งหลายเห็นว่าไม่น่าปรารถนาไม่น่าชอบใจ เช่น สิ่งของที่เน่าเหม็น ย่อมไม่เป็นที่ปรารถนาของบุคคลหรือสัตว์ทั้งหลาย ในทางตรงกันข้าม สิ่งของที่มีกลิ่นหอม ย่อมเป็นที่ปรารถนาของบุคคลและสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น

ปริกัปปอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าชอบใจซึ่งเป็นไปเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือเฉพาะตนเองเท่านั้น ซึ่งบุคคลทั่วไปหรือสัตว์โดยทั่วไป ถือว่า เป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนาน่าชอบใจ แต่ตนเองไม่ชอบใจในบุคคลนั้นหรือในสิ่งนั้น เช่น พระพุทธเจ้าถือว่าเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนาน่าชอบใจของบุคคลที่เป็นสัมมาทิฏฐิทั้งหลาย แต่พวกมิจฉาทิฏฐิถือว่า พระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าชอบใจ ไม่ต้องการเห็น ไม่ต้องการเข้าเฝ้า เหล่านี้เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |