| |
ความหมายของจักขุปสาทรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๑๓๔ ได้แสดงความหมายของจักขุปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้

จักขุ คือ รูปที่บอกสถานที่เสมอกันและสถานที่ไม่เสมอกัน หมายความว่า เป็นรูปที่คอยชี้แนะที่เสมอกันและที่ไม่เสมอกัน เพราะการรับรู้รูปดังกล่าวมีจักขุปสาทรูปเป็นเหตุ

อีกนัยหนึ่ง จักขุ คือ รูปที่ยินดีรูปารมณ์ เพราะไม่ทอดทิ้งรูปารมณ์ที่มาปรากฏ

อีกนัยหนึ่ง จักขุ คือ รูปที่แสดงรูปารมณ์

เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ว จักขุมีความหมาย ๓ ประการ คือ

๑. รูปที่บอกสถานที่ที่เสมอกันและสถานที่ที่ไม่เสมอกัน ดังแสดงวจนัตถะว่า “จกฺขติ สมวิสมํ อาจิกฺขตีติ จกฺขุ” แปลความว่า รูปใดย่อมชี้บอกสถานที่ที่เสมอกันและสถานที่ที่ไม่เสมอกัน เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า จักขุ

๒. รูปที่ยินดีรูปารมณ์ ดังแสดงวจนัตถะว่า “รูปํ อสฺสาเทตีติ จกฺขุ” แปลความว่า รูปใดย่อมยินดีซึ่งรูป [คือรูปารมณ์] เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า จักขุ

๓. รูปที่แสดงรูปารมณ์ ดังแสดงวจนัตถะว่า “รูปํ วิภาเวตีติ จกฺขุ” แปลความว่า รูปใดย่อมทำรูป [รูปารมณ์] ให้แจ่มแจ้ง เพราะเหตุนั้น รูปนั้นจึงชื่อว่า จักขุรุ.๑๓๕

บทสรุปของผู้เขียน :

จากความหมายทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นการกล่าวโดยอุปจารนัย คือ นัยโดยอ้อม เพราะตามความเป็นจริงแล้ว รูปธรรมทั้งหลายเป็นอเหตุกะ คือ เป็นธรรมที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ และเป็นอจิตตกะ คือ เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีความรู้สึกนึกคิดหรือไม่มีเจตนาในการจัดแจงหรือบงการให้อะไรเป็นไปตามที่ตนต้องการแต่ประการใด มีสภาพเป็นอัพยากตะสำเร็จมาจากกรรมเก่าที่เผล็ดผลเป็นรูปธรรมที่มีความใสสามารถกระทบกับรูปารมณ์ได้เท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถที่จะชี้บอกหรือแสดงสถานที่หรือสิ่งใดได้ เพียงแต่ว่าจักขุวิญญาณจิตที่อาศัยจักขุปสาทรูปเกิดขึ้นมานั้น เป็นสภาพธรรมที่สามารถมองเห็นสีต่าง ๆ อันแสดงสัดส่วนรูปร่างสัณฐานสีสันวรรณะของสิ่งนั้น ๆ ทำให้มโนวิญญาณจิตที่เกิดตามมาสามารถรู้ได้ว่าตรงไหนเสมอและตรงไหนไม่เสมอเท่านั้น

อนึ่ง รูปธรรมทั้งหลายไม่สามารถรู้อารมณ์ได้ จึงเรียกว่า อนารัมมณธรรม เพราะฉะนั้น ดวงตาจึงไม่สามารถชี้บอกสิ่งใดได้ เพียงแต่ว่าจักขุปสาทรูปนี้เป็นที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณจิต ซึ่งเป็นผู้รับรู้รูปารมณ์และยินดีในรูปารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น เมื่อจะแสดงความหมายโดยตรง ที่เรียกว่า มุขยนัย แล้ว ก็ควรจะแสดงว่า รูปอันเป็นเหตุแห่งความยินดีในรูปารมณ์ของจิตและเจตสิก ดังนี้จึงจะตรงกับความหมายที่ท่านแสดงไว้แล้วในเบื้องต้นนั้น

อีกนัยหนึ่ง รูปธรรมทั้งหลายเป็นอเหตุกะ คือ เป็นธรรมที่ไม่ประกอบด้วยเหตุและเป็นอจิตตกะ คือ เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีความรู้สึกนึกคิดดังกล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น จักขุปสาทรูปนี้จึงไม่สามารถที่จะแสดงหรือทำให้รูปารมณ์นั้นแจ่มแจ้งได้ เพียงแต่ว่าจักขุวิญญาณจิตที่อาศัยจักขุปสาทรูปเกิดขึ้นรับรู้รูปารมณ์ แล้วจึงสามารถชี้บอกสัดส่วนรูปร่างสัณฐานสีสันวรรณะของสิ่งนั้น ๆ ให้มโนวิญญาณจิตที่เกิดตามหลังมานั้นได้แจ่มแจ้งในรูปร่างสัณฐานสีสันวรรณะของสิ่งนั้น ๆ ได้

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๑๓๖ ท่านได้แสดงความหมายของจักขุปสาทรูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

จักขุปสาทรูปนั้น ซึมซาบอยู่ในเยื่อตา ๗ ชั้น ประดุจน้ำมันซึมซาบปุยนุ่นในประเทศที่เกิดในสรีระสัณฐานของบุคคลผู้อยู่ตรงหน้า มีประมาณเท่าศีรษะเล็นในท่ามกลางแววตาดำ อันธาตุทั้ง ๔ มีหน้าที่ทรงสมานให้อบอุ่นและให้เคลื่อนไป กระทำอุปการะแล้ว ประดุจขัตติยกุมารอันพระพี่เลี้ยงทั้ง ๔ มีหน้าที่อุ้มให้สรงสนาน แต่งพระองค์ และถวายงานพัดเฝ้าอยู่เป็นประจำ ฉันนั้น อันฤดู จิต และอาหารคอยอุปถัมภ์ อันอายุเฝ้าบริบาล อันโคจรรูปมีวรรณะเป็นต้นคอยแวดล้อม ให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวารแห่งวิถีจิตมีจักขุวิญญาณจิตเป็นต้น เป็นไปตามสมควร ฯ ส่วนนอกนี้ เรียกว่า สสัมภารจักขุ [จักษุที่เป็นอุปกรณ์หรือส่วนประกอบของจักขุปสาทรูปอีกส่วนหนึ่ง] ฯ

มติของคณาจารย์ในประเทศไทย [รุ่นหลัง] :

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๑๓๗ ได้แสดงความหมายของจักขุปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้

ดวงตาทั้งหมด ไม่ชื่อว่า จักขุปสาท ที่ชื่อว่า จักขุปสาทนี้ คือ เป็นธรรมชาติรูปชนิดหนึ่งที่เกิดจากกรรม มีความใสดุจกระจกเงา เป็นเครื่องรับรูปารมณ์ ตั้งอยู่ระหว่างกลางตาดำ มีเยื่อตา ๗ ชั้นซับอยู่ ประดุจปุยสำลีที่อาบด้วยน้ำมันชุ่มอยู่ทั้ง ๗ ชั้น โตประมาณเท่าหัวของเหา มีหน้าที่ให้สำเร็จกิจ ๒ ประการคือ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งจักขุวิญญาณจิต อย่างหนึ่ง เป็นทวารอันเป็นที่เกิดแห่งจักขุทวารวิถีจิต อีกอย่างหนึ่ง

ส่วนมูลนิธิสถานที่ไม่ตั้งอยู่ในความประมาทรุ.๑๓๘ ได้แสดงความหมายของจักขุปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้

จักขุปสาท คือ ดวงตาของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง เรียกว่า มังสจักขุ ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ส่วน ได้แก่

๑. สสัมภารจักขุ คือ ส่วนต่าง ๆ ที่ประชุมกันอยู่ทั้งหมด เรียกว่า “ดวงตา” ซึ่งมีทั้งตาขาวและตาดำ มีก้อนเนื้อเป็นฐานรองรับปสาทจักขุไว้

๒. ปสาทจักขุ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “จักขุปสาท” คือ ความใสของมหาภูตรูปอันเกิดจากกรรมที่ตั้งอยู่บนกลางตาดำ

เพราะฉะนั้น ดวงตาทั้งหมด ไม่ชื่อว่า จักขุปสาท ที่เรียกว่า จักขุปสาท นั้นก็คือ ธรรมชาติที่เป็นรูปชนิดหนึ่ง เกิดจากกรรม มีความใสดุจเงากระจก เป็นเครื่องรับรูปารมณ์ ตั้งอยู่ระหว่างตาดำมีหลักฐานแสดงไว้ชัดว่า เป็นเยื่อบาง ๆ ซับซ้อนกันอยู่ถึง ๗ ชั้น ประดุจปุยนุ่นที่ชุ่มด้วยน้ำมันงา ชุ่มอยู่ทั้ง ๗ ชั้น โตประมาณเท่าศีรษะของเหา มีหน้าที่ให้สำเร็จกิจ ๒ อย่างคือ

[๑] เป็นที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณจิต ๒

[๒] เป็นทวาร คือ ช่องทางการรับรู้รูปารมณ์ของจักขุทวารวิถีจิต

บทสรุปของผู้เขียน :

จากข้อมูลหลักฐานและคำอธิบายดังกล่าวแล้วข้างต้นนั้น สามารถจึงสรุปคำอธิบายความหมายของจักขุปสาทรูปได้ดังนี้

จักขุปสาทรูปเป็นรูปชนิดหนึ่งที่เกิดจากกรรม มีความใสดุจกระจกเงา สามารถรับกระทบกับรูปารมณ์คือสีต่าง ๆ ได้ หมายความว่า รูปอันเป็นที่ตั้งหรือเป็นที่เกิดแห่งจักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง และมีสภาพเป็นอยู่คล้ายกับจะบอกให้จักขุวิญญาณจิตรู้อารมณ์ว่า อารมณ์นั้นดีหรือไม่ดี เพราะเป็นปสาทรูปที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณจิตในการรับรู้รูปารมณ์อันแสดงรูปร่างสัณฐานสีสันวรรณะของสิ่งต่าง ๆ ทำให้มโนวิญญาณจิตทั้งหลายที่เกิดตามมา สามารถรับรู้รูปร่างสัณฐานสีสันวรรณะของสิ่งนั้น ๆ ได้ ตลอดจนรู้ได้ว่า สิ่งนั้นสวยงาม ไม่สวยงาม น่าชอบใจ ไม่น่าชอบใจ เป็นต้นนั่นเอง ชื่อว่า จักขุปสาทรูป ซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างกลางตาดำ มีเยื่อตาหุ้มอยู่ ๗ ชั้น โดยซึมซาบอยู่ในเยื่อตาทั้ง ๗ ชั้น มีเยื่อตารักษาความชุ่มชื้นให้อยู่เสมอ จักขุปสาทรูปนี้มีสัณฐานโตประมาณเท่าหัวเหา ซึ่งให้สำเร็จกิจ ๒ ประการคือ

๑. เป็นวัตถุคือเป็นสถานที่ตั้งหรือเป็นสถานที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณจิต ๒

๒. เป็นทวารคือประตูหรือช่องทางให้จักขุทวารวิถีจิตหรือจักขุทวาริกจิต ๔๖ ดวง ได้แก่ กามาวจรจิต ๔๖ ดวง [เว้นโสตวิญญาณจิต ๒ ฆานวิญญาณจิต ๒ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ กายวิญญาณจิต ๒] เกิดขึ้นรับรู้รูปารมณ์คือสีต่าง ๆ ที่ปรากฏทางประสาทตา ทำให้มโนวิญญาณจิตที่เกิดต่อ ๆ มา สามารถรับรู้รูปร่างสัณฐานและสีสันวรรณะของสิ่งต่าง ๆ ได้ ท่านจึงกล่าวว่า มีความเป็นอยู่คล้าย ๆ จะชี้บอกให้จักขุวิญญาณจิตรู้ว่าสถานที่นั้นเสมอ สถานที่ตรงนี้ไม่เสมอ ดังนี้เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |