| |
วิรตีเจตสิก   |  

วิรัติ เป็นอาการงดเว้นจากบาปธรรมทางกายและทางวาจา ได้แก่ กายทุจริต ๓ และวจีทุจริต ๔ ซึ่งเป็นวีติกกมกิเลส คือ กิเลสที่ล่วงล้ำออกมาทางกายและทางวาจา วิรตีเจตสิกย่อมทำการงดเว้นโดยสัมปัตตวิรัติ คือ การงดเว้นขณะที่ประจวบเหมาะกับสิ่งนั้น ๆ หรือสมาทานวิรัติ คือ การงดเว้นโดยการสมาทานตั้งใจไว้ก่อน ส่วนพระอริยบุคคลทั้งหลาย ที่ละกิเลสอันเป็นเหตุให้กระทำกายทุจริตและวจีทุจริตได้โดยเด็ดขาดแล้ว ท่านย่อมงดเว้นได้โดยสมุจเฉทวิรัติ คือ การงดเว้นได้เด็ดขาด

วิรัติมีสภาวะเป็นเจตสิกปรมัตถ์ ที่ชื่อว่า วิรตีเจตสิก มี ๓ ดวง คือ

๑. สัมมาวาจาเจตสิก หมายถึง สภาวธรรมที่เป็นเครื่องงดเว้นจากวจีทุจริต ๔ ได้แก่ การพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการงานอันเป็นอาชีพ หมายความว่า การงดเว้นจากวจีทุจริต ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งของสัมมาวาจาเจตสิกนี้ เป็นการงดเว้นจากวจีทุจริตโดยทั่วไป ซึ่งไม่ใช่เป็นการพูดทุจริตเพื่อเป็นการทำมาหาเลี้ยงชีพหรือไม่ใช่เป็นการประกอบอาชีพโดยอาศัยวจีทุจริต แต่เป็นการพูดโดยทั่วไป เช่น พูดโกหก เฉย ๆ ด่ากันเฉย ๆ พูดใส่ร้ายป้ายสีกันตามนิสัยของบุคคลที่ใจยังอยู่ไม่เป็นสุข หรือพูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระ ตามประสาคนที่ไม่มีสติระลึกนึกคิดว่าควรหรือไม่ควร เป็นต้น

๒. สัมมากัมมันตเจตสิก หมายถึง สภาวธรรมที่เป็นเครื่องงดเว้นจากกายทุจริต ๓ ได้แก่ ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องการทำมาหาเลี้ยงชีพ หมายความว่า การงดเว้นจากกายทุจริต ๓ อย่างใดอย่างหนึ่งของสัมมากัมมันตเจตสิกนี้ เป็นการงดเว้นจากกายทุจริตโดยทั่วไป ซึ่งไม่ใช่การกระทำเพื่อเป็นการหาปัจจัยมาเลี้ยงชีพหรือไม่ใช่เป็นการประกอบอาชีพโดยอาศัยกายทุจริตเหล่านั้น แต่เป็นการกระทำโดยทั่วไป เช่น ฆ่าสัตว์ฆ่าคนเพราะความโกรธ ฆ่าเล่นสนุกสนาน ทำลายทรัพย์สินของบุคคลเล่นเพื่อความสนุกสนานหรือทำลายเพราะความโกรธแค้นเจ้าของทรัพย์ การข่มขืนกระทำชำเราบุตรภรรยาของบุคคลอื่นเพราะความโกรธอาฆาตแค้น หรือประพฤติผิดไปตามความอยากด้วยอำนาจโลภะ เป็นต้น

๓. สัมมาอาชีวเจตสิก หมายถึง สภาวธรรมที่เป็นเครื่องงดเว้นจากกายทุจริต ๓ และวจีทุจริต ๔ ที่เกี่ยวกับการงานอันเป็นอาชีพ หมายความว่า การงดเว้นจากกายทุจริตและวจีทุจริตของสัมมาอาชีวเจตสิกนี้เป็นการงดเว้นที่เกี่ยวกับอาชีพหรือเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ เช่น ฆ่าสัตว์มากินเป็นอาหาร หรือฆ่าสัตว์เพื่อนำไปขายเลี้ยงชีพ รับจ้างฆ่ามนุษย์เพื่อนำเงินมาใช้เลี้ยงชีพ ลักทรัพย์มาเลี้ยงชีพ ขายบริการทางเพศหาเงินมาเลี้ยงชีพ รับจ้างด่า รับจ้างใส่ร้ายป้ายสี รับจ้างโกหกลอกลวง หรือพูดตลกโปกฮา เป็นต้น เพื่อหาปัจจัยมาเลี้ยงชีพ เป็นต้น

การงดเว้นของวิรตีเจตสิก ๓ ดวงนี้ ในขณะที่ประกอบกับมหากุศลจิต ๘ ย่อมเป็นการงดเว้นโดยสัมปัตตวิรัติหรือสมาทานวิรัติ แต่ในขณะที่ประกอบกับมรรคจิตนั้น เป็นการงดเว้นโดยสมุจเฉทวิรัติ คือ การตัดขาดจากขันธสันดาน ไม่มีเจตนาที่จะล่วงวจีทุจริตเหล่านั้นอีกต่อไป ส่วนในขณะที่ประกอบกับผลจิตนั้น เป็นการทำหน้าที่เสวยผล คือ ความสุขในพระนิพพาน ที่เรียกว่า สันติสุข หรือ บรมสุข


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |