| |
อกุศลกรรมบถ หรือ ทุจริต แบ่งเป็น ๓ ทวาร   |  

กายกรรม มี ๓ ประการ

๑. ปาณาติบาต การทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป [รวมทั้งมนุษย์และสัตว์ทั่วไป] ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การเบียดเบียนทำร้ายสัตว์ ให้ได้รับความลำบาก ถึงแก่ความตาย

๒. อทินนาทาน การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ได้แก่ การลักขโมย ฉ้อโกง ฉกชิงวิ่งราว ปล้น เป็นต้น ซึ่งทำให้บุคคลอื่นสูญเสียกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตน

๓. กาเมสุมิจฉาจาร การประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ได้แก่ การคบชู้สู่สามีภรรยาของบุคคลอื่น หรือการล่วงละเมิดในบุรุษหรือสตรีอื่น ที่มีเจ้าของหวงแหน ที่นอกจากสามีภรรยาของตน

วจีกรรม มี ๔ ประการ

๔. มุสาวาท การพูดเท็จ ได้แก่ การโกหก หลอกลวง ให้เขาหลงเชื่อในสิ่งที่เป็นเท็จ ไม่เป็นความจริง

๕. ปิสุณวาจา การพูดส่อเสียด ได้แก่ การพูดใส่ร้ายป้ายสีให้เกิดความแตกแยกสามัคคี หรือเกิดความเข้าใจผิด ทำให้ผู้ถูกใส่ร้าย เกิดความเสียหาย หรือเสียผลประโยชน์

๖. ผรุสวาจา การพูดคำหยาบ ได้แก่ การด่าว่าเสียดสี ให้เกิดบันดาลโทสะ การพูดกระแน่ะกระแหนให้เกิดความโกรธ ความไม่พอใจ หรือ การด่าว่าให้ได้รับความเสียหายต่าง ๆ

๗. สัมผัปปลาปะ การพูดเพ้อเจ้อ ได้แก่ การพูดในสิ่งที่ไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ต่าง ๆ ในบรรดาเดรัจฉานกถาทั้งหมด

มโนกรรม มี ๓ ประการ

๘. อภิชฌา ความอยากได้ ได้แก่ ความละโมบอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นมาเป็นของตน โดยไม่ชอบธรรม หรือการยึดถือหวงแหนในทรัพย์สมบัติของตนจนเกินไป จนไม่อยากใช้สอย มีชีวิตแบบฝืดเคือง

๙. พยาบาท ความปองร้าย ได้แก่ ความคิดอาฆาต พยาบาท จองเวร หรือ โกรธ ไม่พอใจ เสียใจ ประทุษร้ายใจ เป็นต้น

๑๐. มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ได้แก่ ความเห็นที่เป็นไปโดยผิดจากหลักศีลธรรมของศาสนาที่ดี ผิดจากหลักวัฒนธรรมจารีตประเพณีของสังคมที่ถูกต้อง และผิดจากหลักกฎหมายของบ้านเมืองที่ชอบธรรม เรียกว่า เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |