| |
อจินไตย ๔   |  

อจิตไตย หมายถึง เรื่องราวที่บุคคลไม่ควรนำมาคิดค้นหาเหตุผล ความเป็นมาของเรื่องราวนั้น ๆ มากจนเกินไป เพราะเป็นสิ่งที่เกินวิสัยที่บุคคลธรรมดาจะรู้ให้ละเอียดถี่ถ้วนได้ทั้งหมด แต่เป็นวิสัยเฉพาะของบุคคลที่สามารถเข้าถึงสภาพเช่นนั้นเท่านั้น หรือเป็นวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น มี ๔ ประการ กล่าวคือ

๑. พุทธวิสัย หมายถึง เรื่องเกี่ยวกับพระสัพพัญญุตญาณ ความเป็นไปและอานุภาพของพระสัพพัญญุตญาณ พระพุทธคุณแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรครุ่นคิดให้เกินวิสัยของตน เพราะเป็นสภาพที่กว้างขวางละเอียดลึกซึ้งและยาวไกลเกินที่จะคิดคำนวณหรือคาดคะเนเอาได้ นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกันเท่านั้นที่จะสามารถรู้ทั่วถึงได้

๒. ฌานวิสัย หมายถึง ฌานอภิญญาและฤทธิ์เดชทั้งหลาย ของท่านผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรครุ่นคิดค้นหาสาเหตุให้เกินวิสัยของตน เช่นว่า ฌาน อภิญญา และฤทธิ์เดชเหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มีความเป็นไปได้จริงหรือไม่ ดังนี้เป็นต้น เพราะเหลือวิสัยของบุคคลที่ไม่ได้ฌาน อภิญญา หรือฤทธิ์เดชนั้น ที่จะรู้ได้ ต้องเป็นผู้ที่ได้ฌาน อภิญญา หรือมีฤทธิ์เดชเท่านั้น ที่สามารถจะรู้ได้ ตามสมควรแก่ความสามารถของตนเอง

๓. กรรมวิบาก หมายถึง ผลแห่งกรรมทั้งหลาย มีทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันชาติก็ดี อุปปัชชเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติที่ ๒ หลังจากตายจากชาติที่ทำกรรมนั้นไปแล้วก็ดี อปราปริยเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลตั้งแต่ชาติที่ ๓ เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงนิพพานก็ดี เป็นต้น ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรครุ่นคิดค้นหาสาเหตุให้เกินวิสัยของตน เช่นว่า กรรมที่ตนเองหรือบุคคลอื่นได้รับอยู่ในปัจจุบันชาตินั้น เป็นกรรมประเภทไหนกันแน่ เกิดมาจากกรรมอะไร จะสิ้นสุดลงเมื่อไร และกรรมที่ทำอยู่ในปัจจุบันชาตินี้ จะให้ผลได้เมื่อไรหนอ ดังนี้เป็นต้น เพราะเรื่องวิบากกรรมนี้ เป็นวิสัยของท่านผู้ได้อภิญญามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น

๔. โลกจินตา หมายถึง ความเป็นไปของโลกอันเป็นที่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย ได้แก่ แผ่นดิน ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ เป็นต้น พร้อมทั้งบรรดาสัตว์ทั้งหลายที่เกิดอยู่ในโลกทั้งหลาย ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรครุ่นคิดค้นหาสาเหตุให้เกินวิสัยของตน เช่นว่า สิ่งเหล่านี้มีความเป็นมาอย่างไร สืบเชื้อสายมาจากไหน มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ใครเป็นผู้สร้างขึ้น ดังนี้เป็นต้น

การที่บุคคล ทำการครุ่นคิดถึงแต่สิ่งเหล่านี้ เพื่อค้นหาข้อสรุปว่า มีต้นสายปลายเหตุเป็นมาอย่างไร สิ้นสุดตรงไหน เป็นต้น บุคคลนั้น ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความลำบากทางด้านจิตใจ อาจเกิดความตึงเครียด สั่งสมอาการหงุดหงิดรำคาญ อันเป็นสาเหตุของโรคจิต อาจเป็นบ้าเสียสติได้ หรือทำให้เสียเวลาในการทำมาหาเลี้ยงชีพประกอบกิจที่เป็นประโยชน์ไป หรือเสียเวลาในการที่จะแสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่ควรจะเป็นไปได้สำหรับวิสัยของตนเอง ฉะนั้น สภาพธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ จึงชื่อว่า อจินไตย แปลว่า สิ่งที่ไม่ควรครุ่นคิดค้นหาสาเหตุให้เกินขอบเขตวิสัยของตนเอง เพราะไม่สามารถที่จะรู้หรือเข้าใจได้อย่างทั่วถึง เหมือนกับวิสัยของท่านเหล่านั้น เนื่องจากความจำกัดขอบเขตแห่งวิสัยของตนนั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |