| |
เหตุให้เกิดวิริยะ ๑๖ อย่าง   |  

สังเวควัตถุ ๘ และ วิริยารัมภวัตถุ ๘

สังเวควัตถุ ๘ อย่าง

สังเวควัตถุ หมายถึง เรื่องราวหรืออารมณ์ที่ทำให้เกิดความสังเวช คือ ความสลดใจด้วยอำนาจปัญญาที่เกิดพร้อมด้วยโอตตัปปะ คือ ความสะดุ้งกลัวต่อบาปและทุจริตกรรมทั้งปวง จึงทำให้บุคคลมีความมุ่งมั่นพากเพียรพยายามในการกระทำกุศลกรรมต่าง ๆ เพื่อให้หลุดพ้นจากภาวะแห่งความทุกข์นั้น ๆ โดยเด็ดขาด สังเวควัตถุ ๘ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลธรรมโดยส่วนเดียว ไม่มีการกลับกลายเป็นอกุศลเลย มีอธิบายดังต่อไปนี้

๑. ชาติทุกข์ ทุกข์เพราะความเกิด เมื่อบุคคลปรารภถึงความทุกข์เพราะการเกิดโดยอุบายอันแยบคาย ด้วยอำนาจโยนิโสมนสิการแล้ว ย่อมเกิดความสังเวชสลดใจ แล้วมุ่งมั่นพยายามในการกระทำกุศลกรรมทั้งหลาย เพื่อให้หลุดพ้นจากภาวะแห่งความเกิดในภพต่าง ๆ ต่อไป

๒. ชราทุกข์ ทุกข์เพราะความแก่ เมื่อบุคคลปรารภถึงความทุกข์เพราะความแก่ชรา โดยอุบายอันแยบคาย ด้วยอำนาจโยนิโสมนสิการแล้ว ย่อมเกิดความสังเวชสลดใจ แล้วมุ่งมั่นพยายามในการกระทำกุศลกรรมทั้งหลาย เพื่อให้หลุดพ้นจากภาวะแห่งความแก่ชรา อันเนื่องมาจากความเกิดเป็นเหตุ

๓. พยาธิทุกข์ ทุกข์เพราะความเจ็บไข้ เมื่อบุคคลปรารภถึงความทุกข์เพราะความป่วยไข้ โดยอุบายอันแยบคาย ด้วยอำนาจโยนิโสมนสิการแล้ว ย่อมเกิดความสังเวชสลดใจ แล้วมุ่งมั่นพยายามในการกระทำกุศลกรรมทั้งหลาย เพื่อให้หลุดพ้นจากภาวะแห่งความป่วยไข้ อันเนื่องมาจากความเกิดและความแก่ชราเป็นเหตุ

๔. มรณทุกข์ ทุกข์เพราะความตาย เมื่อบุคคลปรารภถึงความทุกข์เพราะความตาย โดยอุบายอันแยบคาย ด้วยอำนาจโยนิโสมนสิการแล้ว ย่อมเกิดความสังเวชสลดใจ แล้วมุ่งมั่นพยายามในการกระทำกุศลกรรมทั้งหลาย เพื่อให้หลุดพ้นจากภาวะแห่งความตาย อันเนื่องมาจากความเกิดเป็นเหตุ

๕. อปายทุกข์ ทุกข์เพราะความเกิดในอบายภูมิ เมื่อบุคคลปรารภถึงความทุกข์ที่ต้องเกิดในอบายภูมิ โดยอุบายอันแยบคาย ด้วยอำนาจโยนิโสมนสิการแล้ว ย่อมเกิดความสังเวชสลดใจ แล้วมุ่งมั่นพยายามในการกระทำกุศลกรรมทั้งหลาย เพื่อให้หลุดพ้นจากการเกิดในอบายภูมิ อันเนื่องมาจากอกุศลทั้งหลายเป็นเหตุ

๖. อตีตมูลทุกข์ ทุกข์เพราะมูลเหตุที่ทำในอดีต เมื่อบุคคลปรารภถึงความทุกข์เพราะกรรมในอดีตเป็นเหตุ โดยอุบายอันแยบคาย ด้วยอำนาจโยนิโสมนสิการแล้ว ย่อมเกิดความสังเวชสลดใจ แล้วมุ่งมั่นพยายามในการกระทำกุศลกรรมทั้งหลาย เพื่อให้หลุดพ้นจากภาวะแห่งความทุกข์ต่าง ๆ อันเนื่องมาจากความเกิด ซึ่งมีกรรมเป็นตัวต้นเหตุ

๗. อนาคตมูลทุกข์ ทุกข์ในอนาคตเพราะมูลเหตุที่ทำในปัจจุบันหรืออดีต เมื่อบุคคลปรารภถึงความทุกข์ที่จะพึงบังเกิดขึ้น เพราะกรรมในปัจจุบันนี้เป็นเหตุ โดยอุบายอันแยบคาย ด้วยอำนาจโยนิโสมนสิการแล้ว ย่อมเกิดความสังเวชสลดใจ แล้วมุ่งมั่นพยายามในการกระทำกุศลกรรมทั้งหลาย เพื่อให้หลุดพ้นจากภาวะแห่งความทุกข์ในอนาคตทั้งปวงนั้น ตลอดถึงเพื่อความไม่ต้องเกิดในภพชาติต่อไปอีก

๘. อาหารปริเยสนทุกข์ ทุกข์อันเกิดจากการเที่ยวแสวงหาอาหาร เมื่อบุคคลปรารภถึงความทุกข์เพราะการที่ต้องแสวงหาอาหารมาเลี้ยงชีพและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตน โดยอุบายอันแยบคาย ด้วยอำนาจโยนิโสมนสิการแล้ว ย่อมเกิดความสังเวชสลดใจ แล้วมุ่งมั่นพยายามในการกระทำกุศลกรรมทั้งหลาย เพื่อให้หลุดพ้นจากภาวะแห่งความทุกข์ในสังสารวัฏ อันเนื่องมาจากความเกิดเป็นเหตุ เพื่อมิให้เกิดมารับทุกข์เช่นนี้อีก

วิริยารัมภวัตถุ ๘

วิริยารัมภวัตถุ หมายถึง เรื่องราวหรืออารมณ์อันเป็นปัจจัยให้เกิดการปรารภความเพียรในการกระทำกิจการงานต่าง ๆ ให้สำเร็จลง แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่มีโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว วิริยารัมภวัตถุทั้ง ๘ อย่างนี้ก็อาจกลับกลายทำให้เกิดโกสัชชะ คือ ความเกียจคร้านขึ้นมาได้ ดังนี้

๑. กัมมะ เกี่ยวกับการงาน มี ๒ อย่าง คือ

๑.๑ การงานที่ทำสำเร็จไปแล้ว เมื่อบุคคลปรารภถึงการงานที่ตนเพิ่งทำสำเร็จไปแล้ว ถ้ามีโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย ย่อมเกิดความภาคภูมิใจและเกิดกำลังใจฮึกเหิมที่จะต่อสู้กับการงานอื่นอีกต่อไป เพราะได้เห็นผลของงานที่ตนทำสำเร็จมาแล้วนั่นเองเป็นเหตุ แต่ถ้าบุคคลมีอโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยไม่แยบคายหรือพิจารณาไม่รอบคอบ เมื่อปรารภถึงการงานที่ตนได้ทำสำเร็จแล้ว ย่อมเกิดความพึงพอใจอยู่เพียงนั้น หรือนึกถึงความลำบาก ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ตลอดถึงปัญหาอุปสรรคในการทำงาน ย่อมทอดถอนใจ เมื่อนั้น โกสัชชะ คือ ความเกียจคร้านย่อมเกิดขึ้นครอบงำจิตของบุคคลนั้น ทำให้ละเลยหยุดชะงักการงาน ที่จะพึงกระทำต่อไป หรือกลายเป็นผู้ขวนขวายน้อยอยากอยู่สบาย ๆ กลายเป็นคนเฉื่อยชา หยุดอยู่กับที่

๑.๒ การงานที่กำลังจะลงมือทำ เมื่อบุคคลปรารภถึงการงานที่ตนกำลังจะลงมือทำ ถ้ามีโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย ย่อมเกิดความฮึกเหิมที่จะต่อสู้กับการงานนั้น โดยคิดว่า การงานของเรายังไม่ได้ทำ ถ้าไม่รีบทำ การงานก็จะคั่งค้าง หรือถ้ามีภารกิจการงานอย่างอื่นที่จะต้องทำอีก การงานนี้ก็จะไม่ได้ทำ จึงทำให้บุคคลนั้นเกิดความพากเพียรพยายามที่จะทำการงานนั้นให้สำเร็จลุล่วงไปโดยเรียบร้อย ไม่คั่งค้างอากูล แต่ถ้าบุคคลนั้นมีอโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยไม่แยบคายหรือพิจารณาไม่รอบคอบ เมื่อปรารภถึงการงานที่ตนกำลังจะลงมือทำ ย่อมเกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย โดยคำนึงถึงความลำบาก ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ตลอดถึงปัญหาอุปสรรคในการทำงานนั้น ย่อมทอดถอนใจ เมื่อนั้น โกสัชชะ คือ ความเกียจคร้านย่อมเกิดขึ้นครอบงำจิตของบุคคลนั้นได้ ทำให้ละเลยหยุดชะงักการงานที่กำลังจะลงมือกระทำนั้นเสีย โดยนำเรื่องต่าง ๆ มาเป็นเหตุอ้างให้เกิดความเกียจคร้าน เช่น มักอ้างว่า หนาวนัก ร้อนนัก หิวนัก กระหายนัก ยังเช้าอยู่ หรือสายแล้ว เป็นต้น จึงไม่กระทำการงานนั้น

๒. มัคคะ เกี่ยวกับการเดินทาง มี ๒ อย่าง คือ

๒.๑ การเดินทางที่เพิ่งมาถึง เมื่อบุคคลปรารภถึงการเดินทางที่ตนเองเพิ่งเดินมาถึง ถ้ามีโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย ย่อมเกิดความภาคภูมิใจและเกิดกำลังใจฮึกเหิมที่จะต่อสู้กับการงานอื่นอีกต่อไป เพราะได้เห็นความสำเร็จของการเดินทางนั้นเป็นเหตุ โดยคิดว่า “เราอุตส่าห์เดินทางมาไกลแสนไกล เมื่อมาถึงแล้วต้องรีบกระทำกิจการงานที่มุ่งหมายมาให้สำเร็จเสร็จสิ้นไป จะได้ไม่เสียเวลาเดินทางมาเหนื่อยเปล่า ดังนี้เป็นต้น แล้วรีบทำภารกิจของตนให้เสร็จสิ้นไป แต่ถ้าบุคคลมีอโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยไม่แยบคายหรือพิจารณาไม่รอบคอบ เมื่อปรารภถึงการเดินทางที่ตนเดินมาถึงแล้ว ย่อมเกิดความพึงพอใจอยู่เพียงนั้น หรือนึกถึงความลำบาก ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ตลอดถึงปัญหาอุปสรรคในการเดินทาง ย่อมทอดถอนใจ เมื่อนั้น โกสัชชะ คือ ความเกียจคร้านย่อมเกิดขึ้นครอบงำจิตของบุคคลนั้น ทำให้ละเลยหยุดชะงักการงานที่จะพึงกระทำต่อไป หรือเป็นผู้ขวนขวายน้อยอยากอยู่สบาย ๆ โดยอ้างเรื่องต่าง ๆ มาเป็นเหตุแห่งความเกียจคร้าน

๒.๒ การเดินทางที่กำลังจะออกเดิน เมื่อบุคคลปรารภถึงการเดินทางที่ตนกำลังจะออกเดิน ถ้ามีโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย ย่อมเกิดความฮึกเหิมที่จะมุ่งมั่นในการเดินทางไปให้ถึงจุดหมายปลายทางให้ได้ โดยคิดว่า หนทางของเรายังอยู่อีกยาวไกล ถ้าไม่รีบเดิน อาจจะไปไม่ถึง หรือถ้ามีอุปสรรคปัญหาอย่างอื่นขึ้นมา เช่น ฝนตก แดดร้อนจัด เป็นต้น การเดินทางก็จะประสบความลำบาก อาจจะเดินไปไม่ถึง เมื่อเป็นเช่นนี้ ภารกิจของเราก็จะไม่สำเร็จดังที่มุ่งหวังไว้ ดังนี้เป็นต้นแล้ว จึงเกิดความพากเพียรพยายามที่จะเดินทางให้บรรลุถึงจุดหมายโดยไม่ชักช้าอืดอาดอันจะทำให้ล่วงเลยเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ถ้าบุคคลนั้นมีอโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยไม่แยบคายหรือพิจารณาไม่รอบคอบ เมื่อปรารภถึงการเดินทางที่ตนกำลังจะออกเดิน ย่อมทำให้เกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย โดยคำนึงถึงความลำบาก ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ตลอดถึงปัญหาอุปสรรคในการเดินทาง ย่อมทอดถอนใจ เมื่อนั้น โกสัชชะ คือ ความเกียจคร้านย่อมเกิดขึ้นครอบงำจิตของบุคคลนั้น ทำให้หยุดชะงักการเดินทางที่จะออกเดินนั้นเสีย โดยนำเรื่องต่าง ๆ มาเป็นเครื่องอ้างให้เกิดความเกียจคร้าน เช่น มักอ้างว่า หนาวนัก ร้อนนัก หิวนัก กระหายนัก ยังเช้าอยู่ หรือสายแล้ว ฝนตก แดดออก เป็นต้น จึงไม่รีบออกเดินทาง

๓. เคลัญญะ ที่เกี่ยวกับสุขภาพ มี ๒ อย่าง คือ

๓.๑ ร่างกายที่เริ่มสบาย เมื่อบุคคลปรารภถึงสุขภาพร่างกายที่เริ่มสบาย ถ้ามีโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย ย่อมเกิดความกระตือรือร้นเร่งรีบที่จะทำกิจการงานต่าง ๆ ที่ตนจะต้องกระทำ โดยคิดว่า ถ้าอาการป่วยไข้ของเรากำเริบขึ้นมาอีก เราก็จะไม่ได้ทำกิจการงาน เมื่อเป็นเช่นนี้ กิจการงานของเราก็จะคั่งค้างอากูลหรือเสียหายไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงควรรีบกระทำกิจการงานนั้นให้สำเร็จเสียก่อน ดังนี้เป็นต้น แล้วขวนขวายกระทำกิจการงานให้สำเร็จเสร็จสิ้นไป แต่ถ้าบุคคลนั้นมีอโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยไม่แยบคายหรือพิจารณาไม่รอบคอบ เมื่อปรารภถึงร่างกายของตนที่เริ่มสบายแล้ว ย่อมเกิดความวิตกกังวลเกรงว่า ถ้าลงมือทำงานในขณะที่ร่างกายยังไม่แข็งแรงเต็มที่ ความป่วยไข้อาจกำเริบขึ้นมาอีก หรือนึกถึงความลำบาก ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ตลอดถึงปัญหาอุปสรรคในการทำงาน ย่อมทอดถอนใจ เมื่อนั้น โกสัชชะ คือ ความเกียจคร้านย่อมเกิดขึ้นครอบงำจิตของบุคคลนั้น ทำให้ละเลยหยุดชะงักต่อภารกิจการงานที่จะพึงกระทำนั้นเสีย

๓.๒ ร่างกายที่เริ่มไม่สบาย เมื่อบุคคลปรารภถึงร่างกายของตนที่เริ่มมีอาการไม่สบายขึ้นมาแล้ว ถ้ามีโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย ย่อมเกิดความขวนขวายที่จะทำภารกิจการงานที่ตนจะต้องจัดต้องทำ โดยคิดว่า ภารกิจการงานของเราที่ยังไม่ได้ทำนั้นยังมีอยู่ ถ้าไม่รีบทำให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ถ้าเราเกิดอาการป่วยไข้หนัก หรือเจ็บป่วยเป็นเวลายาวนาน หรือเราอาจจะตายด้วยอาการป่วยไข้นี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ กิจการงานนั้นก็จะคั่งค้างอากูลหรือเสียประโยชน์ไป ดังนี้เป็นต้น จึงเกิดความพากเพียรพยายามที่จะทำกิจการงานนั้นให้สำเร็จลุล่วงไปโดยเรียบร้อย ไม่ให้คั่งค้างอากูล แต่ถ้าบุคคลนั้นมีอโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยไม่แยบคายหรือพิจารณาไม่รอบคอบ เมื่อปรารภถึงร่างกายของตนที่เริ่มไม่สบายนั้นแล้ว ย่อมเกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย โดยคำนึงถึงความลำบาก ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ตลอดถึงปัญหาอุปสรรคในการทำงาน หรือกลัวว่า อาการป่วยไข้จะกำเริบหนัก ทำให้ร่างกายทรุดหนักตามไปด้วย จึงเกิดความทอดถอนใจ เมื่อนั้น โกสัชชะ คือ ความเกียจคร้านย่อมเกิดขึ้นครอบงำจิตของบุคคลนั้น ทำให้ละเลยหยุดชะงักภารกิจการงานที่จะพึงกระทำนั้นเสีย

๔. ปิณฑะ เกี่ยวด้วยอาหาร มี ๒ อย่าง คือ

๔.๑ มีอาหารไม่สมบูรณ์ เมื่อบุคคลปรารภถึงความขาดตกบกพร่องเรื่องอาหารของตนแล้ว ถ้ามีโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย ย่อมเกิดความกระตือรือร้นเร่งรีบที่จะทำกิจการงานต่าง ๆ ที่ตนจะต้องกระทำ หรือมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมให้บรรลุถึงความหลุดพ้นจากภาวะที่ต้องขาดแคลนอาหารเช่นนั้นอีก โดยคิดว่า ถ้าหากเราขาดแคลนอาหารยิ่งกว่านี้อีก เราก็จะไม่ได้ทำกิจการงานที่จะต้องจัดต้องทำ เพราะต้องดิ้นรนแสวงหาอาหาร หรือเราอาจจะต้องอดอาหารตายก็เป็นได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น กิจการงานของเราก็จะคั่งค้างอากูลหรือเสียหายไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงควรรีบทำกิจการงานนั้นให้สำเร็จเสียก่อน ดังนี้เป็นต้นแล้วก็ปรารภความเพียรในการทำภารกิจให้เสร็จสิ้นไป แต่ถ้าบุคคลนั้นมีอโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยไม่แยบคายหรือพิจารณาไม่รอบคอบ เมื่อปรารภถึงความบกพร่องเรื่องอาหารแล้ว ย่อมเกิดความวิตกกังวลเกรงว่า ถ้าเราลงมือทำงานในขณะนี้ ร่างกายของเราอาจจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า มีความต้องการอาหารมาก แต่อาหารเรามีน้อย อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ร่างกายของเราอาจไม่สบาย เกิดความป่วยไข้ขึ้นมาก็ได้ หรือเราอาจจะต้องอดอาหารตาย การงานของเราก็จะเสียเปล่า หรือเมื่อนึกถึงความลำบาก ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ตลอดถึงปัญหาอุปสรรคในการทำงานแล้ว ย่อมทอดถอนใจ หมดกำลังใจที่จะทำการงาน เมื่อนั้น โกสัชชะ คือ ความเกียจคร้านย่อมเกิดขึ้นครอบงำจิตของบุคคลนั้น ทำให้ละเลยหยุดชะงักต่อภารกิจการงานที่จะพึงกระทำนั้นเสีย

๔.๒ มีอาหารบริบูรณ์ เมื่อบุคคลปรารภถึงอาหารที่ตนมีอย่างสมบูรณ์แล้ว ย่อมไม่มีปลิโพธิเครื่องกังวลเรื่องอาหาร ถ้ามีโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย ย่อมเกิดขวนขวายที่จะกระทำกิจการงานต่าง ๆ ที่ตนจะต้องกระทำ โดยคิดว่า ขณะนี้เรามีอาหารอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายหรือทุกข์ร้อนเรื่องอาหาร เราควรจะรีบทำภารกิจการงานของตนให้สำเร็จเรียบร้อยหรือมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมให้หลุดพ้นให้ได้ ถ้าเราเกิดความขาดแคลนเรื่องอาหารขึ้นมา เราก็จะต้องดิ้นรนขวนขวายแสวงหาอาหาร มีปลิโพธิกังวลเรื่องอาหาร เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะไม่ได้กระทำภารกิจการงาน กิจการงานของเราย่อมจะคั่งค้างอากูลหรือเสียหายไปโดยเปล่าประโยชน์ หรือการปฏิบัติธรรมของเราจะเป็นไปโดยลำบาก อาจไม่บรรลุถึงความสำเร็จที่มุ่งหวังไว้ จึงควรรีบทำกิจการงานให้สำเร็จเสียก่อน ดังนี้เป็นต้น แล้วขวนขวายกระทำกิจการงานด้วยความพากเพียรพยายาม แต่ถ้าบุคคลนั้นมีอโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาโดยไม่แยบคายหรือพิจารณาไม่รอบคอบ เมื่อปรารภถึงความสมบูรณ์พร้อมเรื่องอาหารแล้ว ย่อมเกิดความพึงพอใจอยู่เพียงนั้น และเกิดความประมาทเมินเฉย ไม่ขวนขวายในการกระทำภารกิจการงานของตนให้เสร็จสิ้น หรือไม่เร่งรีบปฏิบัติธรรม เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ในสังสารวัฏ เมื่อนั้น โกสัชชะ คือ ความเกียจคร้านย่อมเกิดขึ้นครอบงำจิตของบุคคลนั้น ทำให้ละเลยหยุดชะงักต่อภารกิจการงานที่จะพึงกระทำนั้นเสีย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |