| |
สรุปความเรื่องมัจฉริยเจตสิก   |  

มัจฉริยเจตสิก อยู่ในกลุ่ม อกุศลราสี คือ หมวดแห่งอกุศลเจตสิก ๑๔ เป็นโทจตุกเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบได้เฉพาะในโทสมูลจิต ๒ ดวงเท่านั้น

มัจฉริยเจตสิก เป็น อนิยตโยคีเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้โดยไม่แน่นอน หมายความว่า เมื่อระบุว่า ประกอบกับโทสมูลจิต ๒ ดวง แต่เมื่อโทสมูลจิต ๒ ดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้น อาจมีมัจฉริยเจตสิกประกอบร่วมด้วยก็มี ไม่ประกอบร่วมด้วยก็มี ที่เป็นดังนี้ เพราะสภาพของมัจฉริยเจตสิก ย่อมมีลักษณะตระหนี่หวงแหนในทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของตน ไม่ต้องการให้บุคคลอื่นมาก้าวก่ายในทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของตน ด้วยเหตุนี้ ถ้าในขณะใดโทสมูลจิตเกิดขึ้นโดยปรารภถึงความโกรธ ความอาฆาตพยาบาทจองเวร ความเกลียด ความกลัว หรือความอับอายขายหน้า หรือความไม่ชอบใจในบุคคลหรือสิ่งต่าง ๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของตน ในขณะนั้น มัจฉริยเจตสิกย่อมไม่เข้าประกอบกับโทสมูลจิต แต่ถ้าขณะใด โทสมูลจิตเกิดขึ้นโดยปรารภถึงทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของตนแล้วเกิดความตระหนี่หวงแหน ในขณะนั้น มัจฉริยเจตสิกจึงเข้าประกอบร่วมกับโทสมูลจิตนั้น

มัจฉริยเจตสิกมีอารมณ์ที่แตกต่างจากอิสสาเจตสิกและกุกกุจจเจตสิก ซึ่งอยู่ในกลุ่มโทจตุกเจตสิกด้วยกัน เพราะฉะนั้น เจตสิกทั้ง ๓ ดวงนี้จึงไม่สามารถเกิดร่วมในจิตดวงเดียวกันได้ เนื่องจากอารมณ์ที่ทำการรับรู้นั้นแตกต่างกัน ดังกล่าวแล้ว เจตสิกทั้ง ๓ ดวงนี้จึงมีชื่อเรียกว่า นานากทาจิ แปลว่า เจตสิกที่ประกอบกับจิตเป็นบางครั้งบางคราวและเวลาเข้าประกอบ ย่อมไม่ประกอบพร้อมกัน

มัจฉริยเจตสิกย่อมเกิดร่วมกับเจตสิกได้ ๑๙ ดวง [เว้นมัจฉริยะ] คือ

เมื่อประกอบกับโทสมูลจิต ๒ ดวง ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๒ [เว้นปีติ] โมจตุกเจตสิก ๔ โทสเจตสิก ๑ ถีทุกเจตสิก ๒

มัจฉริยเจตสิกนี้ สามารถละได้โดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน ด้วยอำนาจโสดาปัตตมิรรค เพราะฉะนั้น พระโสดาบันบุคคลจึงไม่มีความตระหนี่หวงแหนในทรัพย์สมบัติและคุณความดีของตนอีกต่อไปแล้ว จึงเป็นนักบุญอันยิ่งใหญ่ ย่อมสงเคราะห์บุคคลทั้งหลายได้โดยไม่เลือกหน้า ถ้ามีความสามารถจะสงเคราะห์ได้ เช่น ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี ให้บุคคลยืมเงินไปจนหมดสิ้นจากเรือนคลัง เขาจะส่งคืนหรือไม่ส่งคืนก็ไม่เคยทวงถาม และไม่เคยปฏิเสธบุคคลที่มากู้ยืม แม้บุคคลนั้นจะไม่ส่งคืนก็ตาม สุดท้ายกลายเป็นเศรษฐีตกยาก เคยใส่บาตรพระภิกษุสงฆ์ด้วยอาหารอันประณีต แต่ภายหลังก็ใส่ได้เพียงข้าวปลายเกรียนและน้ำผักดองเป็นกับเท่านั้น หรือนางวิสาขา ทำบุญทุกวันโดยไม่เสียดายปัจจัย นางสุปิยาเพื่อนของนางวิสาขา แล่เนื้อขาอ่อนต้มเอาน้ำซุปถวายภิกษุอาพาธ เป็นต้น และพระโสดาบันบุคคลท่านอื่น ๆ อีกมากมาย อันแสดงว่า พระโสดาบันตัดความตระหนี่หวงแหนหมดสิ้นแล้ว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |