| |
รูปปรมัตถ์แท้และรูปปรมัตถ์เทียม มีอย่างละ ๕ ชื่อ   |  

พระอนุรุทธาจารย์ได้ตั้งชื่อรูปปรมัตถ์แท้ และรูปที่ไม่ใช่รูปปรมัตถ์แท้ [หรือเรียกว่า รูปปรมัตถ์เทียม] ไว้อย่างละ ๕ ชื่อ ดังนี้

รูปปรมัตถ์แท้ รูปปรมัตถ์เทียม ๑. สภาวรูป หมายถึง รูปที่มีสภาวะประจำตัวของตนแน่นอนโดยเฉพาะ ไม่เปลี่ยนแปลงสภาวะไปเป็นอย่างอื่น ๒. สลักขณรูป หมายถึง รูปที่มีสามัญลักษณะ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏรับรองให้พิจารณารู้ได้ ๓. นิปผันนรูป หมายถึง รูปที่สำเร็จมาด้วยสภาวะของตนเอง โดยเกิดขึ้นจากสมุฏฐาน ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร ๔. รูปรูป หมายถึง รูปที่มีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมสิ้นสลายไป ด้วยวิโรธิปัจจัย คือ ปัจจัยที่ไม่ถูกกัน มีความเย็นและความร้อน เป็นต้น กระทบถูกต้องเข้า ย่อมเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นและดับไปอยู่เสมอ ๕. สัมมสนรูป หมายถึง รูปที่พระโยคีบุคคลสามารถพิจารณาโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ ๑. อสภาวรูป หมายถึง รูปที่ไม่มีสภาวะประจำตัวของตนโดยเฉพาะ เป็นเพียงอาการของสภาวรูปเท่านั้น ๒. อสลักขณรูป หมายถึง รูปที่ไม่มีสามัญลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏรับรองให้พิจารณารู้ได้ ๓. อนิปผันนรูป หมายถึง รูปที่ไม่ได้สำเร็จด้วยสภาวะของตนเอง ต้องอาศัยนิปผันนรูปเกิด ๔. อรูปรูป หมายถึง รูปที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมสิ้นสลายไป ด้วยวิโรธิปัจจัย มีความเย็นและความร้อน เป็นต้น เพราะไม่มีสภาวะโดยแท้จริงประจำของตน ๕. อสัมมสนรูป หมายถึง รูปที่พระโยคีบุคคลไม่สามารถพิจารณาโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ เพราะไม่มีสภาวะที่จะรองรับอาการแห่งไตรลักษณ์ให้ปรากฏออกมาได้

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

รูปปรมัตถ์แท้

สภาวะแห่งรูปปรมัตถ์แท้ตามที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์และอาจารย์ในรุ่นหลังได้แสดงและอธิบายไว้แล้วนั้น สามารถประมวลความหมายและคำอธิบายมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ดังต่อไปนี้

๑. สภาวรูป คือ รูปที่มีสภาวะประจำตัวของตนโดยเฉพาะแน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงสภาวะไปเป็นอย่างอื่น หมายความว่า รูปปรมัตถ์แท้ทั้ง ๑๘ รูปนั้น แต่ละอย่างย่อมมีสภาวะของตน ๆ โดยเฉพาะ เช่น ปถวีธาตุย่อมมีลักษณะแข็งหรืออ่อนประจำอยู่เฉพาะของตน ไมว่าจะเกิดกับใครหรือสิ่งใด ที่ไหน เมื่อไร ย่อมมีสภาวะแข็งหรืออ่อนอยู่นั่นเอง ย่อมไม่เปลี่ยนสภาวะไปเป็นอย่างอื่น เช่น จะเปลี่ยนเป็นสภาวะไหลหรือเกาะกุม หรือร้อนเย็น เป็นต้นย่อมไม่มี แม้สภาวรูปอีก ๑๗ อย่างก็เช่นเดียวกัน ย่อมคงสภาวะของตนไว้อย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะมีการเกิดดับเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยของรูปนั้น ๆ ก็ตาม แต่เมื่อเกิดปรากฏขึ้นคราวใด ย่อมทรงสภาวะของตนอย่างเดิมเช่นนั้นเสมอ

๒. สลักขณรูป คือ รูปที่มีสามัญลักษณะ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏรับรองให้พิจารณารู้ได้ หมายความว่า รูปทั้ง ๑๘ รูป มีมหาภูตรูป ๔ เป็นต้นนั้น ได้ชื่อว่า สลักขณรูป เพราะเป็นรูปที่มีสภาวะลักษณะเฉพาะของตน ดังกล่าวแล้ว จึงสามารถปรากฏอาการแห่งไตรลักษณ์ได้ คือ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็แปรเปลี่ยนไป เรียกว่า อนิจจัง ที่ต้องแปรเปลี่ยนไปนั้น เพราะไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ เนื่องจากถูกปัจจัยต่าง ๆ บีบคั้นอยู่เสมอ เมื่อทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ก็ต้องแตกดับทำลายไป ชื่อว่า ทุกขัง เพราะความไม่เที่ยง คือ เกิดขึ้นแล้วแปรเปลี่ยนไป และแตกดับไปเพราะทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ จึงได้ชื่อว่า อนัตตา คือ สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เนื่องจากไม่สามารถบังคับบัญชาให้อยู่ในอำนาจและไม่สามารถให้เป็นไปตามที่ปรารถนาทุกอย่างได้ เพราะถูกปรุงแต่งด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง เมื่อเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ย่อมปรากฏเกิดขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยแปรเปลี่ยน ย่อมแปรเปลี่ยนไป และเมื่อเหตุปัจจัยดับ ก็ย่อมดับไปด้วย

๓. นิปผันนรูป คือ รูปที่สำเร็จมาด้วยสภาวะของตนเอง โดยเกิดขึ้นจากสมุฏฐาน ๔ ได้แก่ กรรม จิต อุตุ อาหาร หมายความว่า รูปทั้ง ๑๘ รูป มีมหาภูตรูป ๔ เป็นต้น ได้ชื่อว่า นิปผันนรูป เพราะเป็นรูปที่มีสภาวะประจำของตนโดยเฉพาะ ซึ่งมีสมุฏฐานที่ทำให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ รูปบางอย่างเกิดจากกรรม รูปบางอย่างเกิดจากจิต รูปบางอย่างเกิดจากอุตุ และรูปบางอย่างเกิดจากอาหาร อนึ่ง รูปเหล่านี้บางอย่างก็เกิดได้จากสมุฏฐานเดียว รูปบางอย่างเกิดได้จากสมุฏฐาน ๒ อย่าง รูปบางอย่างเกิดได้จากสมุฏฐาน ๓ อย่าง และรูปบางอย่างก็เกิดได้จากสมุฏฐานทั้ง ๔ ตามสมควรแก่สภาพของรูปนั้น ๆ เมื่อรูปเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้โดยมีสมุฏฐานที่เป็นเหตุให้เกิดขึ้นเช่นนี้ ย่อมมีสภาพเป็นไปตามสภาพของสมุฏฐานนั้น ๆ เช่น รูปที่เกิดจากกรรม ย่อมเป็นไปตามสภาพของกรรมที่จัดแต่งให้รูปนั้นเกิดขึ้น ดีบ้าง เลวบ้าง หยาบบ้าง ประณีตบ้าง เป็นต้น เมื่อกรรมอ่อนกำลังลง รูปเหล่านั้นย่อมอ่อนกำลังลงตามไปด้วย และเมื่อกรรมนั้นหมดไป รูปเหล่านั้นย่อมดับไปตามสภาพของกรรมนั้นด้วย รูปที่เกิดจากสมุฏฐานอื่น ๆ นอกจากนี้ ก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีความเป็นไปตามสภาพของสมุฏฐานนั้น ๆ ด้วย

๔. รูปรูป คือ รูปที่มีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมสิ้นสลายไป ด้วยวิโรธิปัจจัย คือ ปัจจัยที่ไม่ถูกกัน มีความเย็นและความร้อน เป็นต้น กระทบถูกต้องเข้า ย่อมเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นและดับไปอยู่เสมอ หมายความว่า รูป ๑๘ รูป มีมหาภูตรูป ๔ เป็นต้น เป็นรูปที่มีสภาวะของตนเองโดยเฉพาะ เป็นรูปที่เกิดจากสมุฏฐาน ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น จึงมีสภาพเป็นไปตามกฏของไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนไปในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด ตามเหตุปัจจัยหรือตามสภาพแห่งสมุฏฐานของรูปนั้น ๆ ไม่สามารถดำรงคงที่อยู่อย่างเดิมได้ตลอดไป

๕. สัมมสนรูป คือ รูปที่พระโยคีบุคคลสามารถพิจารณาโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ หมายความว่า รูปทั้ง ๑๘ รูป มีมหาภูตรูป ๔ เป็นต้น เป็นรูปที่มีสภาวะลักษณะเฉพาะของตน และเป็นรูปที่มีสมุฏฐานเป็นแดนเกิด ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสมุฏฐานนั้น ๆ จึงมีสภาพเป็นไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏประจำอยู่ด้วยเสมอ เพราะเหตุนี้ เมื่อพระโยคีบุคคลกำหนดพิจารณาดูรูปเหล่านี้อยู่เนือง ๆ โดยไม่ละสติและสัมปชัญญะอันเป็นไปในรูปเหล่านี้แล้ว ถ้าพระโยคีบุคคลนั้นมีบุญญาธิการสั่งสมมาดี ย่อมสามารถพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และความดับไปของรูปเหล่านี้ได้ เมื่อพิจารณาความเกิดดับของรูปนั้นบ่อย ๆ ย่อมสามารถเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปเหล่านั้นได้ คือ เห็นความไม่เที่ยง เพราะเกิดขึ้นแล้ว แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ไม่สามารถตั้งอยู่นานได้ และต้องดับไปในที่สุด ไม่สามารถบงการหรือบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่ใจปรารถนาได้ทุกอย่าง อันเป็นสภาพของไตรลักษณ์แห่งรูปเหล่านั้น

รูปปรมัตถ์เทียม

ส่วนรูปปรมัตถ์เทียมนั้น ย่อมมีสภาพที่ตรงกันข้ามกับสภาวะของรูปปรมัตถ์แท้ตามที่กล่าวแล้ว ดังต่อไปนี้

๑. อสภาวรูป คือ รูปที่ไม่มีสภาวลักษณะประจำตัวของตนโดยเฉพาะ เป็นเพียงอาการของสภาวรูปเท่านั้น หมายความว่า รูปทั้ง ๑๐ รูป มีปริจเฉทรูปเป็นต้นนั้น เป็นรูปที่ไม่มีสภาวะประจำเฉพาะของตน กล่าวคือ ปริจเฉทรูป เป็นเพียงอากาสธาตุที่คั่นระหว่างรูปกลาปหนึ่งกับอีกรูปกลาปหนึ่งไม่ให้ติดกันเท่านั้น ไม่มีสภาวลักษณะพิเศษประจำตนอย่างอื่นแต่ประการใด ต้องมีรูปกลาปซึ่งเป็นกลุ่มของรูปปรมัตถ์แท้ปรากฏเกิดขึ้นก่อนแล้ว ปริจเฉทรูปนี้จึงแสดงขอบเขตของกลาปนั้น ๆ กายวิญญัติรูปก็เป็นเพียงอาการเคลื่อนไหวของร่างกายแห่งสัตว์ที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น วจีวิญญัติรูปก็เป็นเพียงอาการเปล่งวาจาซึ่งเกิดจากจิตเป็นตัวกระตุ้นเท่านั้น ลหุตารูป เป็นอาการเบา มุทุตารูป เป็นอาการอ่อน และกัมมัญญตารูป เป็นอาการเหมาะควรแก่การงานหรือเป็นสภาพที่ทำให้เกิดความคล่องตัวในการแสดงกิริยาอาการต่าง ๆ อุปัจจยรูปและสันตติรูปเป็นอาการปรากฏเกิดขึ้นของนิปผันนรูป ชรตารูปเป็นอาการแก่ของนิปผันนรูป และอนิจจตารูปเป็นอาการดับของนิปผันนรูป เพราะฉะนั้น รูปทั้ง ๑๐ อย่างนี้ จึงชื่อว่า อสภาวรูป คือ เป็นรูปที่ไม่มีสภาวะลักษณะของตนอยู่โดยเฉพาะ ที่จะทำให้สามารถสังเกตรู้ได้

๒. อสลักขณรูป คือ รูปที่ไม่มีสามัญลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏรับรองให้พิจารณารู้ได้ หมายความว่า รูปทั้ง ๑๐ รูป มีปริจเฉทรูปเป็นต้นเหล่านี้ เป็นรูปที่ไม่มีสภาวะลักษณะของตนเองโดยเฉพาะ เป็นเพียงอาการหรือเครื่องหมายและเครื่องประกอบของนิปผันนรูป ๑๘ เท่านั้น เพราะฉะนั้น อาการแห่งไตรลักษณ์ของรูปเหล่านี้จึงไม่มี กล่าวคือ เมื่อมนุษย์หรือสัตว์ ตลอดทั้งสรรพสิ่งทั้งปวงไม่มีแล้ว ความเกิดขึ้น ความแก่ และความตาย แห่งมนุษย์หรือสัตว์ และสรรพสิ่งเหล่านั้น ย่อมมีขึ้นไม่ได้เช่นเดียวกัน

๓. อนิปผันนรูป คือ รูปที่ไม่ได้สำเร็จด้วยสภาวะของตนเอง ต้องอาศัยนิปผันนรูปเกิดขึ้น หมายความว่า อนิปผันนรูปทั้ง ๑๐ มีปริจเฉทรูปเป็นต้นเหล่านี้ เป็นเหมือนเงาของนิปผันนรูป ถ้านิปผันนรูปไม่มีแล้ว อนิปผันนรูปเหล่านี้ย่อมมีขึ้นไม่ได้เช่นเดียวกัน เปรียบเหมือนเงาของมนุษย์หรือสัตว์หรือสรรพสิ่งทั้งปวง ถ้ามนุษย์หรือสัตว์ และสรรพสิ่งทั้งปวงนั้นไม่มีแล้ว เงาของสิ่งนั้นย่อมมีขึ้นไม่ได้เช่นเดียวกัน เงาย่อมอาศัยสิ่งที่มีอยู่จริงเกิดขึ้น ฉันใด อนิปผันนรูป ๑๐ ซึ่งเป็นอาการหรือเครื่องหมายของนิปผันนรูป ๑๘ ย่อมต้องอาศัยนิปผันนรูป ๑๘ นั้นปรากฏเกิดขึ้น ฉันนั้น

๔. อรูปรูป คือ รูปที่ไม่มีสภาพที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่มีสภาพที่จะเสื่อมสิ้นสลายไป ด้วยวิโรธิปัจจัย มีความเย็นและความร้อน เป็นต้น หมายความว่า รูปทั้ง ๑๐ รูป มีปริจเฉทรูปเป็นต้นเหล่านี้ เป็นรูปที่ไม่มีสภาวะลักษณะที่แท้จริงประจำตนโดยเฉพาะ เป็นแต่เพียงอาการหรือเครื่องหมายของนิปผันนรูป ๑๘ เท่านั้น เพราะฉะนั้น รูปเหล่านี้จึงต้องอาศัยนิปผันนรูปเกิดขึ้นและเป็นไป เป็นเหมือนเงาแห่งนิปผันนรูปดังกล่าวแล้ว จึงไม่สามารถปรากฏโดยลำพังของตนเองได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จึงไม่มีเหตุปัจจัยใด ๆ ที่จะกระทบอนิปผันนรูปเหล่านี้ให้เกิดอาการเปลี่ยนแปลงและแตกดับสลายไปได้ เปรียบเหมือนบุคคลไม่สามารถฆ่าหรือทำลายเงาของมนุษย์หรือสัตว์ ตลอดถึงเงาของสรรพสิ่งทั้งปวงให้ย่อยยับไปได้ ต้องฆ่าหรือทำลายตัวมนุษย์หรือสัตว์ หรือทำลายสรรพสิ่งนั้น ๆ โดยตรง เมื่อมนุษย์หรือสัตว์ถูกฆ่า หรือสรรพสิ่งนั้น ๆ ถูกทำลายแล้ว เงาของมนุษย์หรือสัตว์ หรือสิ่งนั้น ๆ ย่อมสูญหายไปเอง

๕. อสัมมสนรูป คือ รูปที่พระโยคีบุคคลไม่สามารถพิจารณาให้เห็นโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ เพราะไม่มีสภาวะลักษณะที่จะรองรับอาการแห่งไตรลักษณ์ให้ปรากฏออกมาได้ หมายความว่า โดยสภาวะตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่จะมีการเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง และดับไปนั้น สิ่งนั้นจะต้องมีอยู่จริงโดยรูปร่างและสภาวะ เช่น มนุษย์จะมีการเกิด แก่ เจ็บ ตายได้นั้น ตัวมนุษย์นั้นก็จะต้องมีอยู่จริง ๆ ไม่ใช่ภาพถ่ายหรือภาพวาดของมนุษย์เท่านั้น เพราะภาพวาดหรือภาพถ่ายนั้น ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต หรือไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริงโดยสภาวะ เป็นแต่เพียงภาพที่ช่างได้วาดหรือได้ถ่ายภาพไว้เท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถแสดงอาการแก่ เจ็บ และตาย โดยตัวตนของตนได้ มีแต่เก่าคร่ำคร่าไปตามสภาพแวดล้อม หรือย่อยยับไปด้วยฝีมือของบุคคลอื่น สัตว์อื่น และสภาพแวดล้อมอื่นเท่านั้น ข้อนี้ฉันใด อนิปผันนรูปทั้ง ๑๐ มีปริจเฉทรูปเป็นต้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่มีอาการเกิดดับโดยสภาวะของตนเอง ที่พระโยคีบุคคลจะสามารถพิจารณาให้เห็นโดยความเป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้ เพราะไม่มีสภาวะประจำตัวของตนนั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |