| |
บุคคลที่ควรแผ่เมตตาให้ ๔ จำพวก   |  

บุคคลที่ควรแผ่กรุณาให้ตามลำดับ มี ๔ จำพวก ได้แก่ บุคคลที่ได้รับความลำบาก ที่เรียกว่า ทุกขิตบุคคล ดังต่อไปนี้

๑. อัชฌัตตบุคคล คือ ตนเอง เพราะตนย่อมเป็นที่รักและน่าสงสารมากกว่าใครๆ

๒. มัชฌัตตบุคคล บุคคลผู้เป็นปานกลาง ย่อมตั้งอยู่ในฐานะคนกลาง ๆ การที่จะทำให้เกิดความสงสาร ก็เป็นการลำบากใจ

๓. ปิยบุคคล บุคคลผู้เป็นที่รัก เพราะทำใจลำบาก ทำให้เกิดตัณหาเปมะ ความรักใคร่เนื่องด้วยตัณหาได้ง่าย การที่จะแผ่ความกรุณา ปรารถนาดี ด้วยการวางจิตเป็นกลางนั้น เป็นไปได้ยาก

๔. เวรีบุคคล บุคคลผู้เป็นคู่เวรกัน ย่อมเป็นการลำบากอย่างยิ่ง เพราะบุคคลนั้น ย่อมปรากฏเป็นเหมือนหนามตำตาแทงใจอยู่นั้นเอง การที่จะแผ่ความสงสารปรารถนาดีให้เกิดขึ้นโดยง่ายนั้น ก็เป็นการยากอย่างยิ่ง

เหตุที่ท่านวางแนววิธีการในการเจริญกรุณาไปตามลำดับบุคคล คือ ตนเอง ผู้ถึงความลำบาก มัชฌัตตบุคคล คนทั่วไปไม่ได้รักไม่ได้ชังกัน ปิยบุคคล ผู้เป็นที่รัก และเวรีบุคคล คู่เวรกันนั้น เพื่อเป็นการปรับสภาพของกรุณาจิตให้มีความเชื่อมโยงติดต่อกัน และเข้ากันได้อย่างกลมกลืน ในอารมณ์หรือบุคคลที่ต่างกัน เพื่อให้กรุณาจิต ดำเนินไปได้โดยสะดวก และทำให้อัปปนาฌานเกิดได้

โดยลำดับแรกนั้น พระโยคีบุคคลต้องแผ่กรุณาให้กับตนเองก่อน เพื่อทำตนเองนั้นให้เป็นตัวอย่าง เป็นพยาน หรือเป็นสะพานให้กรุณาจิตดำเนินไปโดยสะดวก โดยคิดว่า “เรารักสุข เกลียดทุกข์ ฉันใด คนอื่นสัตว์อื่น ก็รักสุขเกลียดทุกข์ เหมือนกันฉันนั้น และสัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของ ๆ ตน ใครทำกรรมอันใดไว้ บุคคลนั้น ก็ต้องเป็นทายาทผู้รับผลของกรรมนั้น ๆ โดยไม่สามารถหลีกเหลี่ยงได้เลย จะเร็ว หรือช้า ก็สุดแล้วแต่เหตุปัจจัยของกรรมนั้น ๆ แม้ตัวเราเองก็เช่นเดียวกัน ตราบใดที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ก็ต้องรองรับวิบากแห่งกรรมที่ทำแล้ว เหมือนกัน” ดังนี้เป็นต้น เมื่อพิจารณาวางใจได้เช่นนี้ ก็แผ่กรุณาไป ทำตนให้เป็นสักขีพยาน

ต่อจากนั้น พึงแผ่ให้บุคคลผู้เป็นกลาง ๆ ไม่รักไม่ชัง ซึ่งสามารถที่จะแผ่กรุณาในระดับธรรมดา เป็นพื้นฐานจากตนเองได้ง่าย เนื่องจากไม่ค่อยมีความผูกพันกันมากนัก กรุณาจิตก็สามารถเป็นไปได้โดยสะดวก ไม่ติดขัดในอาการรักหรือชัง

ต่อจากนั้น จึงแผ่กรุณาไปในบุคคลผู้เป็นที่รัก โดยหวนระลึกถึงเหตุที่ทำให้เกิดความรักใคร่ในบุคคลผู้เป็นที่รัก มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เกื้อกูลกัน และคำพูดอันให้เกิดความรักใคร่กัน เป็นต้น แล้วนึกสงสาร เมื่อบุคคลนั้น ได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน หรือจะได้รับในกาลข้างหน้า

ต่อจากนั้น จึงแผ่ให้แก่เวรีบุคคล คนคู่เวรกัน เมื่อบุคคลสามารถแผ่กรุณาจิต มาตามลำดับบุคคลดังกล่าวข้างต้นแล้ว สภาพกรุณาจิตก็จะมีความละเอียดยิ่งขึ้น และแผ่ซาบซ่านไปในสัตว์ทั้งหลาย อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น ก็สามารถที่จะแผ่ไปยังเวรีบุคคลได้โดยสะดวก ไม่ขัดเรื่องความบาดหมาง ความขุ่นข้องหมองใจ เนื่องจากสภาพเหล่านี้ถูกอำนาจแห่งกรุณาจิตเข้าไปทับถม จนไม่อาจกำเริบขึ้นมาได้ หรือถ้ายังมีความขุ่นข้องหมองใจอยู่ ก็พยายามด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่กล่าวแล้วในเรื่องเมตตาอัปปมัญญา จนสามารถปรับจิตปรับใจให้เกิดความสงสารได้ในที่สุด

อนึ่ง พระโยคีบุคคลนั้น ไม่พึงยินดีอยู่ด้วยการแผ่กรุณาเพียงเท่านั้น พึงทำการขยายแดนแห่งการแผ่กรุณาออกไป ในลำดับแห่งอาจารย์ เป็นต้นนั้น โดยแผ่ให้แก่สหายยอดรัก

ก็พระโยคีบุคคล เมื่อจะเจริญกรุณา พึงทำจิตให้อ่อนโยน ควรแก่การงาน ในส่วนหนึ่งๆ แล้วจึงน้อมจิตเข้าไปในบุคคลนั้น ๆ ตามลำดับ

ส่วนบุคคลใด ไม่มีบุคคลผู้จองเวร หรือ เพราะเหตุที่ตนเองเป็นมหาบุรุษ ผู้มีกรุณาจิตสม่ำเสมอในสัตว์ทั้งหลายเป็นอุปนิสัย แม้ผู้อื่นทำความเสียหายให้ ก็ไม่เกิดความมั่นหมายแค้นเคืองต่อบุคคลนั้น ว่าเป็นคู่เวรกัน บุคคลนี้ ไม่จำเป็นต้องทำการขวนขวายว่า กรุณาจิตของเราควรแก่การงานในบุคคลกลาง ๆ แล้ว บัดนี้ เราจักน้อมนำกรุณาจิตนั้น ไปในบุคคลผู้มีเวร ดังนี้เป็นต้นเลย เพราะเป็นผู้มีกรุณาจิต เป็นไปโดยปกติแล้ว นั้นเอง เพียงแต่ทำการขยายแดนแห่งกรุณาออกไป ในบุคคลทั้งหลาย โดยลำดับเท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |