| |
อุปจยรูป   |  

ความหมายของอุปจยรูป

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๔๑๙ ได้แสดงความหมายของอุปจยรูปไว้ดังต่อไปนี้

คำว่า จยะ แปลว่า การเกิดขึ้น หมายความว่า การเกิดขึ้นโดยความเป็นกลุ่มก้อน

คำว่า อุปจยะ แปลว่า การเกิดก่อนและเกิดต่อมา หมายความว่า การอุบัติขึ้นก่อนและการเจิญเติบโตขึ้นต่อมาตามลำดับ อุป ศัพท์นี้มีความหมายว่า “ก่อน” เหมือนอุทาหรณ์ว่า อุปญฺาตํ [บัญญัติก่อน] และมีความหมายว่า “ข้างบน,ต่อมา” เหมือนอุทาหรณ์ว่า “อุปสิตฺตํ” [รดไว้ข้างบน] ดังสาธกในคัมภีร์มูลฎีกาว่า

“อุปสทฺโท ปมตฺโถ อุปริอตฺโถ จ โหติ รุ.๔๒๐ แปลความว่า อุป ศัพท์มีความหมายว่า “ก่อน” และมีความหมายว่า “ข้างบน” ดังในพระบาลีตรัสว่า

“โย อายตนานํ อาจโย, โส รูปสฺส อุปจโย. โย รูปสฺส อุปจโย, สา รูปสฺส สนฺตติรุ.๔๒๑ แปลความว่า การเกิดขึ้นก่อนของ [นิปผันน] รูปมีอยู่ การเกิดขึ้นก่อนนั้นเป็นการเกิดต่อมาของรูป [มีจักขุทสกกลาปเป็นต้น] การเกิดต่อมาของรูปนั้นเป็นการดำเนินไปของรูป

เมื่อสรุปความแล้ว อุปจยะ ย่อมมีความหมาย ๒ อย่าง คือ

๑. การเกิดก่อน ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “อาทิโต จโย อุปจโย” แปลความว่า การก่อเกิดขึ้นครั้งแรก ชื่อว่า อุปจยะ

๒. การเกิดต่อมา ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “อุปริโต จโย อุปจโย” แปลความว่า การเกิดขึ้นต่อมา ชื่อว่า อุปจยะ

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๔๒๒ ท่านได้แสดงความหมายของอุปจยรูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

ความแรกก่อ ชื่อว่า อุปจยะ อธิบายว่า [ได้แก่] ความก่อครั้งแรก เพราะ อุป ศัพท์ ส่องเนื้อความว่า ครั้งแรก ดุจในประโยคว่า อุปาตํ [แรกรู้] เป็นอาทิ

คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๔๒๓ เป็นต้นได้แสดงสรุปความเรื่องอุปจยรูป ไว้ดังต่อไปนี้

อุปจยรูป หมายถึง รูปที่เกิดขึ้นเป็นขณะแรกในปฏิสนธิกาล ได้แก่ การเกิดขึ้นครั้งแรกของนิปผันนรูป รวมทั้งการเกิดขึ้นครั้งแรกของรูปที่เกิดจากจิต อุตุ และอาหาร ก็ชื่อว่า อุปจยรูป ด้วย

ในปฏิสนธิขณะของสัตว์ทั้งหลาย กัมมชรูปที่เกิดขึ้นครั้งแรกในภพนั้น ชื่อว่า อุปจยะ รวมถึงการเกิดขึ้นแห่งกัมมชรูปที่ยังเกิดไม่ครบของคัพภเสยยกะนั้นด้วย ย่อมยังมีการเกิดขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงสัปดาห์ที่ ๑๑ กัมมชรูปจึงจะเกิดขึ้นครบบริบูรณ์ เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นของกัมมชรูปที่เกิดต่อจากปฏิสนธิขณะเป็นต้นมา จนรูปเกิดขึ้นครบบริบูรณ์ ก็ชื่อว่า อุปจยะ

ส่วนพวกสัตว์ที่เป็นสังเสทชกำเนิดและโอปปาติกกำเนิดนั้น ในปฏิสนธิขณะนั้นเอง กัมมชรูปย่อมเกิดขึ้นครบบริบูรณ์ เพราะฉะนั้น สำหรับพวกสังเสทชกำเนิดกับโอปปาติกกำเนิดนั้น กัมมชรูปที่เกิดขึ้นเฉพาะในปฏิสนธิขณะเท่านั้น ชื่อว่า อุปจยะ

วจนัตถะ [คำจำกัดความ] ของอุปจยรูป

คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๔๒๔ เป็นต้นได้แสดงวจนัตถะของอุปจยรูปไว้ดังต่อไปนี้

อุปจยรูป เป็นอาการเกิดขึ้นครั้งแรกของนิปผันนรูป ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “อาทิโต จ อุปริโต จ จโยติ = อุปจโย” แปลความว่า การเกิดขึ้นครั้งแรกของนิปผันนรูป ชื่อว่า อุปจยะ รวมทั้งการเกิดขึ้นครั้งแรกของรูปที่เกิดจากจิต อุตุ และอาหาร ก็ชื่อว่า อุปจยรูป

คุณสมบัติพิเศษของอุปจยรูป

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๔๒๕ อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ได้แสดงคุณลักษณะพิเศษของอุปจยรูปไว้ดังต่อไปนี้

๑. อาจายลกฺขโณ มีการเกิดขึ้นครั้งแรกของนิปผันนรูป เป็นลักษณะ

๒. ปุพฺพงฺคโต รูปานํ อุมฺมุชฺชาปนรโส มีการทำให้รูปเติบโตขึ้นในเบื้องต้น เป็นกิจ

๓. ปริปุณฺณภาวปจฺจุปฏฺาโน มีสภาพที่เต็มบริบูรณ์ของรูป เป็นผลปรากฏ

๔. อุปจิตรูปปทฏฺาโน มีรูปที่กำลังจะเกิด เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

จากคุณสมบัติพิเศษของอุปจยรูปที่ท่านได้แสดงไปแล้วนั้น ผู้เขียนจะได้อธิบายความหมายเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจในรายละเอียดแห่งคุณสมบัติพิเศษแต่ละอย่างดังต่อไปนี้

๑. อาจายลกฺขโณ มีการเกิดขึ้นครั้งแรกของนิปผันนรูปเป็นลักษณะ หมายความว่า อุปจยรูปนี้ ก็ได้แก่ อาการที่ปรากฏขึ้นครั้งแรกแห่งนิปผันนรูปทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นรูปที่มีสภาวะลักษณะของตนเองโดยเฉพาะ และเป็นรูปที่ไม่มีรูปร่างสัณฐานหรือสีสันวรรณะใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเพียงอาการปรากฏเกิดขึ้นในครั้งแรกของนิปผันนรูปเท่านั้น แต่ที่ท่านเรียกว่ารูปนั้น ก็เพราะเป็นอาการที่ติดมากับนิปผันนรูป หรือเป็นคุณสมบัติของนิปผันนรูป และเป็นสภาพที่ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก และไม่ใช่นิพพาน ทั้งไม่ใช่เป็นของที่สมมุติบัญญัติขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากสมุฏฐาน ๓ อย่าง กล่าวคือ เกิดจากปฏิกิริยาของจิตก็มี เรียกว่า จิตตชรูป เกิดจากอุณหภูมิหรือสภาพแวดล้อมก็มี เรียกว่า อุตุชรูป และเกิดจากอาหารก็มี เรียกว่า อาหารชรูป แต่เป็นรูปที่ไม่ได้เกิดจากกรรม เพราะถ้าเกิดจากกรรมแล้วสัตว์ทั้งหลายก็จะมีการเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในภพหนึ่งชาติหนึ่ง หรือสามารถเปลี่ยนจากคนหนึ่งไปเป็นอีกคนหนึ่งได้ เปลี่ยนจากสัตว์ประเภทหนึ่งไปเป็นสัตว์อีกประเภทหนึ่งได้ แต่เพราะอุปจยรูปนี้ไม่ได้เกิดจากกรรม เพราะฉะนั้น สภาพของสัตว์บุคคลจึงยังคงอยู่เรื่อยไป จนกว่าจะตายจากภพชาตินั้น จึงจะเปลี่ยนไปเป็นอีกบุคคลหนึ่งได้

๒. ปุพฺพงฺคโต รูปานํ อุมฺมุชฺชาปนรโส มีการทำให้รูปเติบโตขึ้นในเบื้องต้น เป็นกิจ หมายความว่า อุปจยรูปนี้เป็นอาการที่ทำให้รูปมีการเจริญเติบโตขึ้นในเบื้องต้น ได้แก่ อาการที่นิปผันนรูปทั้งหลายปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกนั่นเอง ถ้าไม่มีอุปจยรูปนี้แล้ว นิปผันนรูปทั้งหลายย่อมไม่สามารถปรากฏเกิดขึ้นได้เลย

๓. ปริปุณฺณภาวปจฺจุปฏฺาโน มีสภาพที่เต็มบริบูรณ์ของรูป เป็นผลปรากฏ หมายความว่า อาการที่รูปกลาปปรากฏเกิดขึ้นเต็มบริบูรณ์นั่นแหละ เป็นอาการปรากฏหรือผลปรากฏของอุปจยรูป ไม่ใช่ตัวอุปจยรูปปรากฏเกิดขึ้นมาเอง เพราะอุปจยรูปเป็นรูปธรรมที่ไม่มีสภาวะหรือรูปร่างสัณฐานเป็นของตนเอง แต่เป็นเพียงอาการปรากฏเกิดขึ้นของนิปผันนรูปดังกล่าวแล้วเท่านั้น

๔. อุปจิตรูปปทฏฺาโน มีรูปที่กำลังจะเกิด เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า อุปจยรูปนี้จะปรากฏมีขึ้นได้ ก็ต้องมีนิปผันนรูปที่กำลังจะเกิดขึ้นมาเป็นปทัฏฐานด้วย ถ้าไม่มีนิปผันนรูปปรากฏเกิดขึ้นหรือไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้นิปผันนรูปทั้งหลายปรากฏเกิดขึ้นมาแล้ว อุปจยรูปนี้ย่อมไม่สามารถปรากฏมีขึ้นได้เลย เช่น ในอรูปภูมิทั้ง ๔ ซึ่งไม่มีรูปใด ๆ เกิดขึ้น เพราะไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้รูปอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏเกิดขึ้นเลย เพราะฉะนั้น อุปจยรูปจึงไม่สามารถปรากฏมีขึ้นในอรูปภูมิทั้ง ๔ นั้นได้เลย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |