| |
มโนทวาราวัชชนจิต   |  

มโนทวาราวัชชนจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่พิจารณารับรู้อารมณ์ทางมโนทวาร หมายความว่า มโนทวาราวัชชนจิตนี้ ทำหน้าที่อาวัชชนะ คือ หน่วงเหนี่ยว หรือชักดึงอารมณ์มาสู่มโนทวาร นอกจากนี้แล้ว ยังทำหน้าที่โวฏฐัพพนะ คือ ตัดสินอารมณ์ทางปัญจทวาร เพื่อให้ชวนะได้เสพต่อไปด้วย ฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตนี้ จึงได้ชื่อว่า ชวนปฏิปาทกมนสิการ แปลว่า จิตที่เป็นบาทให้ชวนจิตได้เกิดขึ้นทางปัญจทวาร ถ้าไม่มีมโนทวาราวัชชนจิตนี้เป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินอารมณ์อย่างเด็ดขาดแล้ว [โวฏฐัพพนะ] ชวนจิตก็เกิดขึ้นไม่ได้ ในทางมโนทวารก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีมโนทวาราวัชชนจิต ทำหน้าที่อาวัชชนะและโวฏฐัพพนะไปพร้อมกันด้วยแล้ว ชวนจิต ก็เกิดไม่ได้เช่นเดียวกัน ฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิต จึงสามารถเกิดได้ในทวารทั้ง ๖ และสามารถรับรู้อารมณ์ได้ทุกอย่างซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกกะ ดังต่อไปนี้

๑. ฉะท๎วาเรสุ ฉฬารัมมะณาวิชชานะนะลักขะณัง มีการรับรู้อารมณ์ทั้ง ๖ ที่ปรากฏทางทวาร ๖ เป็นลักษณะ หมายความว่า มโนทวาราวัชชนจิตนี้ สามารถรับอารมณ์ได้ทั้ง ๖ อย่าง ทางทวารทั้ง ๖ โดยไม่มียกเว้น แล้วแต่ว่า อารมณ์นั้นจะปรากฏขึ้นทางทวารใด ก็สามารถเกิดทางทวารนั้น ๆ ได้ คือ เมื่อรูปารมณ์ปรากฏทางจักขุทวารก็สามารถเกิดขึ้นรับรู้รูปารมณ์นั้นได้ เมื่อสัททารมณ์ปรากฏทางโสตทวารก็สามารถเกิดขึ้นรับรู้สัททารมณ์นั้นได้ ดังนี้เป็นต้น ซึ่งในทางปัญจทวารนั้น เป็นการรับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งต่อจากสันตีรณจิตเพื่อมาพิจารณาแล้วตัดสินให้กามชวนจิตได้เสพต่อไป เรียกว่า โวฏฐัพพนจิต ส่วนในทางมโนทวารนั้น เป็นการหน่วงเหนี่ยวธัมมารมณ์มาพิจารณาและตัดสินให้ชวนจิตได้เสพต่อไปโดยตรง เรียกว่า อาวัชชนจิต

๒. ฉะฬารัมมะณาวัชชะนะระสัง มีการพิจารณาอารมณ์ ๖ เป็นกิจ หมายความว่า มโนทวาราวัชชนจิตนี้ ย่อมมีหน้าที่ในการหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ทางมโนทวารมาพิจารณาเพื่อให้ชวนจิตได้เสพต่อไป เรียกว่า อาวัชชนกิจ ไม่ว่าอารมณ์นั้น จะเป็นกามอารมณ์ มหัคคตอารมณ์ โลกุตตรอารมณ์ หรือบัญญัติอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ทั้งในกามวิถีและอัปปนาวิถี [คือฌานวิถี ฌานสมาบัติวิถี อภิญญาวิถี มัคควิถี และผลสมาบัติวิถี] ย่อมสามารถรับได้ทั้งหมดไม่มียกเว้น เพราะว่า ถ้ามโนทวาราวัชชนจิตนี้ไม่เกิดขึ้นทำหน้าที่หน่วงเหนี่ยวอารมณ์ก่อนแล้ววิถีจิตอื่น ๆ ทางมโนทวารก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ มโนทวาราวัชชนจิตนี้ ยังเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตัดสินอารมณ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกว่า โวฏฐัพพนกิจ ทางปัญจทวาร ตามสมควรแก่ทวารนั้น ๆ คือ ทำการตัดสินรูปารมณ์ทางจักขุทวาร ทำการตัดสินสัททารมณ์ทางโสตทวาร เป็นต้น ถ้าไม่มีมโนทวาราวัชชนจิตนี้ทำหน้าที่โวฏฐัพพนกิจ คือ ตัดสินอารมณ์ก่อนแล้ว กามชวนจิตที่จะเกิดต่อไป ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ มโนทวาราวัชชนจิตนี้ จึงสามารถเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร และรับอารมณ์ได้ทุกอารมณ์ ดังกล่าวแล้ว

๓. ตะถาภาวะปัจจุปปัฏฐานัง มีความเป็นอย่างเดียวกันกับอารมณ์นั้น เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า มโนทวาราวัชชนจิตนี้ สามารถปรับสภาพให้ตรงกับอารมณ์ที่ตนรับอยู่นั้นได้อย่างกลมกลืน โดยไม่มีความขัดแย้งหรือเป็นปฏิปักษ์ต่ออารมณ์นั้นแต่อย่างใด หรือไม่มีความเกี่ยงงอนต่อการรับอารมณ์นั้น ๆ แต่อย่างใด ไม่ว่าอารมณ์นั้น จะเป็นรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ หรือธัมมารมณ์ก็ตาม ย่อมสามารถปรับสภาพยอมรับกับอารมณ์นั้นได้โดยดี และไม่มีความลำเอียงเกี่ยงงอนในทวารทั้ง ๖ ไม่ว่าจะเป็นจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร หรือมโนทวารก็ตาม ย่อมสามารถเกิดได้ทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ มโนทวาราวัชชนจิตนี้จึงสามารถรับอารมณ์ได้อย่างสม่ำเสมอกันทั้ง ๖ อารมณ์และทั้ง ๖ ทวาร

๔. ภะวังคัสสะ อะปะคะมะนะปะทัฏฐานัง วา วิปากะมโนธาตุยา อะปะคะมะนะปะทัฏฐานัง วา มีการแผ่ออกไปแห่งภวังคจิต [ในขณะทำหน้าที่อาวัชชนะทางมโนทวาร] หรือ มีการแผ่ออกแห่งมโนธาตุ [คือปัญจทวาราวัชชนจิตและสัมปฏิจฉนจิต ในขณะที่ทำหน้าที่โวฏฐัพพนะทางปัญจทวาร] หมายความว่า มโนทวาราวัชชนจิตนี้ จะเกิดทางมโนทวารได้นั้น ต้องมีภวังคจิตทำหน้าที่ตอบสนองต่ออารมณ์นั้นเสียก่อน โดยเริ่มด้วยอดีตภวังค์ [ตี] คือ ภวังคจิตที่มีอารมณ์ปรากฏทางทวารนั้นแล้ว [เฉพาะที่มีอารมณ์เป็นปัจจุบันนิปผันนรูป คือ คิดนึกถึงนิปผันนรูปในขณะนั้นเท่านั้น ถ้ามีจิต เจตสิก และบัญญัติเป็นอารมณ์ไม่ต้องมีอตีตภวังค์] ต่อจากนั้นก็เป็นภวังคจลนะ [น] คือ ภวังคจิตที่เริ่มสั่นไหวตอบสนองต่ออารมณ์นั้น และภวังคุปัจเฉทะ [ท] คือ ภวังคจิตที่ทำการตัดกระแสภวังค์ [ทิ้งตัวเองหรือหลีกทางให้] ต่อจากนั้น มโนทวาราวัชชนจิต จึงเกิดต่อไปได้ ถ้าภวังคจิตไม่ทำหน้าที่สั่นไหวตอบสนองต่ออารมณ์นั้นและไม่ทำการตัดกระแสภวังค์เสียแล้ว มโนทวาราวัชชนจิต ก็เกิดขึ้นไม่ได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ การแผ่ออกของภวังคจิต คือ การตอบสนองต่ออารมณ์นั้น จึงเป็นเหตุใกล้ให้มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นได้ทางมโนทวาร ส่วนในทางปัญจทวารนั้น ต้องมีการแผ่ออกแห่งมโนธาตุ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต อันเป็นกิริยามโนธาตุ ทำการหน่วงเหนี่ยวอารมณ์มาสู่ทวารแล้วส่งให้ปัญจวิญญาณจิตได้รับรู้ ต่อจากนั้น สัมปฏิจฉนจิต อันเป็นวิบากมโนธาตุ ก็รับอารมณ์มาจากปัญจวิญญาณจิตแล้วส่งให้สันตีรณจิตเป็นผู้พิจารณาไต่สวนอารมณ์ว่า เป็นอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร แล้วสันตีรณจิตก็ส่งให้มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งทำหน้าที่โวฏฐัพพนกิจ คือ ทำการตัดสินอารมณ์นั้น เพื่อส่งให้ชวนจิตได้เสพต่อไป ถ้าไม่มีมโนธาตุจิต คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต แผ่ออกรับอารมณ์มาสู่ทวารแล้วส่งต่อมาตามลำดับ มโนทวาราวัชชนจิต ก็ไม่สามารถทำหน้าที่โวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวารได้เลย ด้วยเหตุนี้ มโนธาตุจิต จึงเป็นเหตุใกล้ให้มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นได้ทางปัญจทวาร


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |