| |
คู่ที่ ๒ วัตถุรูป กับ อวัตถุรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๔๙๒ ท่านได้แสดงความหมายของวัตถุรูปกับอวัตถุรูปไว้ [สันนิษฐานว่า ท่านคงจะแสดงรวมกันกับคู่ที่ ๑ คือ อัชฌัตติกรูปและพาหิรรูปแล้ว เพราะมีองค์ธรรมและความมุ่งหมายเป็นอย่างเดียวกัน คือ วัตถุรูปทั้ง ๖ นั่นเอง ได้ชื่อว่า อัชฌัตติกรูป เพราะเป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิกในการรับรู้อารมณ์และก่อให้เกิดการทำกิจการงานต่าง ๆ ได้ จึงชื่อว่า รูปที่เป็นไปภายใน คือ มีประโยชน์ใช้สอยมาก ส่วนรูปที่เหลืออีก ๒๒ ได้ชื่อว่า อวัตถุรูป คือ รูปที่ไม่ได้เป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิกในการรับรู้อารมณ์ ทั้งไม่ค่อยมีความสำคัญต่อการช่วยทำกิจการงานของร่างกายมากมายนัก จึงได้ชื่อว่า พาหิรรูป คือ รูปที่เป็นไปภายนอก เพราะเป็นรูปที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ใช้สอยหรือไม่ได้มีส่วนช่วยในการทำกิจการงานของร่างกายมากนักนั่นเอง

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๔๙๓ ท่านได้แสดงความหมายของวัตถุรูปและอวัตถุรูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

รูปมีจักขุเป็นต้นนั่นแล จัดเป็นวัตถุรูป รูป ๒๒ ประการนอกจากนี้ ไม่ใช่เป็นวัตถุรูป [ชื่อว่า อวัตถุรูป]

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะรุ.๔๙๔ ได้แสดงอธิบายวัตถุรูปและอวัตถุรูปไว้ ดังต่อไปนี้

ธรรมดาจิตเจตสิกของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมินั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีที่อาศัยเกิด มิฉะนั้น จิตและเจตสิกนั้นก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิกนั้น ก็ได้แก่ ปสาทรูป ๕ หทยรูป ๑ นั่นเอง เพราะฉะนั้น รูปทั้ง ๖ อย่างนี้จึงได้ชื่อว่า วัตถุรูป ถ้าจะอุปมาก็เปรียบเหมือนคนธรรมดาที่ต้องการเดินทางไปทางอากาศ จำเป็นต้องอาศัยเครื่องบินเป็นพาหนะพาไป จึงจะไปได้ ข้อนี้ฉันใด วัตถุรูปก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ฉันนั้น

ส่วนรูปที่เหลืออีก ๒๒ รูปนั้น มิได้เป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อวัตถุรูป

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๔๙๕ ได้อธิบายความหมายของวัตถุรูปกับอวัตถุรูปไว้ดังต่อไปนี้

วัตถุรูป คือ รูปอันเป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิก มี ๖ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และหทยรูป ๑

อวัตถุรูป คือ รูปที่มิได้เป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิก มี ๒๒ รูป ได้แก่ รูปที่เหลือจากวัตถุรูปนั่นเอง

ธรรมชาติแห่งจิตและเจตสิกของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมินั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีที่อาศัยเกิด คล้ายประทีปเปลวไฟ ที่ต้องอาศัยไส้เผาไหม้ให้เกิดเป็นดวงไฟให้แสงสว่างขึ้น ฉันใด จิตและเจตสิกก็เช่นเดียวกัน ย่อมต้องอาศัยสถานที่ตั้งที่อาศัยเกิดเพื่อรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ได้ และที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิกนั้น ก็ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และหทยรูป ๑ กล่าวคือ ปสาทรูป ๕ เป็นที่อาศัยเกิดของทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ กับเจตสิกที่ประกอบ ๗ ดวง และหทยวัตถุรูป ๑ เป็นที่อาศัยเกิดของจิต ๗๕ ดวง [เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ และอรูปวิบากจิต ๔] กับเจตสิกที่ประกอบ ๕๒ ดวง เพราะฉะนั้น รูปทั้ง ๖ นี้ จึงชื่อว่า วัตถุรูป ส่วนรูปที่เหลืออีก ๒๒ รูปนอกจากนี้ ไม่ใช่เป็นรูปเป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิก จึงได้ชื่อว่า อวัตถุรูป

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

ในกรณีวัตถุรูปและอวัตถุรูปนี้ ผู้เขียนได้นำคำอธิบายเหล่านั้นมาประมวลอธิบายขยายความเพิ่มเติมอีก ดังต่อไปนี้

วัตถุรูป คือ รูปอันเป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิก มี ๖ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ หทยรูป ๑ หมายความว่า รูปอันเป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิกในการรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ สำหรับบุคคลผู้เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีขันธ์ ๕ ได้แก่ อบายภูมิ ๔ กามสุคติภูมิ ๗ รูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] เพราะโดยธรรมดาจิตและเจตสิกของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมิเหล่านั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีที่อาศัยเกิด เปรียบเหมือนคนธรรมดาที่ต้องการจะเดินทางไปทางอากาศ จำเป็นจะต้องอาศัยเครื่องบินหรือจรวดเป็นต้น เป็นพาหนะพาไป จึงจะสามารถสัญจรไปทางอากาศได้ หรืออีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนประทีปเปลวไฟ ที่ต้องอาศัยไส้เผาไหม้ให้เกิดเป็นดวงไฟอันให้แสงสว่างปรากฏได้ ข้อนี้ฉันใด จิตและเจตสิกก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมต้องอาศัยที่ตั้งอาศัยเกิดจึงจะสามารถเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ได้ มิฉะนั้นแล้ว จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย และสถานที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิกนั้น ก็ได้แก่ วัตถุรูป ๖ อันได้แก่ ปสาทรูป ๕ และหทยรูป ๑ กล่าวคือ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ และสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ที่ประกอบกับทวิปัญจวิญญาณจิตนั้น ย่อมอาศัยปสาทรูป ๕ [ตามวัตถุรูปของตน ๆ เช่น จักขุวิญญาณจิต ๒ ต้องอาศัยจักขุวัตถุรูปเกิด โสตวิญญาณจิต ๒ ต้องอาศัยโสตวัตถุรูปเกิด ดังนี้เป็นต้นตามลำดับ] ส่วนจิตอีก ๗๕ ดวง [เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ และอรูปวิบากจิต ๔] และเจตสิกที่ประกอบ ๕๒ ดวงนั้น ถ้าเกิดกับบุคคลที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมิ ๒๖ ย่อมต้องอาศัยหทยวัตถุรูปเกิดโดยแน่นอน ตามสมควรที่จะมีจิตเหล่านี้เกิดได้กี่ดวง ส่วนจิต ๔๗ หรือ ๗๙ ดวง [เว้นมโนธาตุ ๓ คื สัมปฏิจฉนจิต ๒ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑] ที่เกิดกับอรูปพรหม ได้แก่ อกุศลจิต ๑๐ [เว้นโทสมูลจิต ๒] มโนทวาราวัชชนจิต ๑ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อรูปาวจรจิต ๑๒ โลกุตตรจิต ๗ หรือ ๓๕ [เว้นโสตาปัตติมรรคจิต ๑ หรือ ๕] ไม่ต้องอาศัยวัตถุรูปใด ๆ เกิด เพราะบุคคลที่เกิดในอรูปภูมิ ๔ นั้นไม่มีรูปใด ๆ เกิดขึ้นเลย อนึ่ง วัตถุรูปทั้ง ๖ อย่างนี้ย่อมมีเฉพาะในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายที่มีชีวิต ที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมิ ๒๖ ภูมิเท่านั้น ส่วนสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายนั้น ย่อมไม่มีวัตถุรูปใด ๆ เกิดเลย ด้วยเหตุนี้ จึงสรุปได้ว่า วัตถุรูป เป็นรูปที่เกิดจากกรรม ที่เรียกว่า กัมมชรูป อย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากจิต อุตุ และอาหาร หรือด้วยเหตุปัจจัยอย่างอื่นแต่ประการใด ปัจจัยอย่างอื่นเป็นเพียงตัวสนับสนุนให้วัตถุรูปมีสมรรถภาพดีขึ้นหรือลดลงเท่านั้น เพราะฉะนั้น บุคคลที่มีวัตถุรูปนั้น ๆ เสียไปแล้ว เช่น ตาบอด หูหนวก จมูกเสีย ลิ้นขาด เป็นต้น แม้จะตั้งจิตอธิษฐานปรารถนาหรือพยายามอ้อนวอนมากมายสักเพียงไร ก็ไม่สามารถทำให้วัตถุรูปนั้นกลับมาดีขึ้นเหมือนเดิมได้ หรือจะใช้ยาขนานเอกมารักษาและบริโภคอาหารอย่างดีเพียงใด ก็รักษาให้ดีอย่างเดิมไม่ได้ [ยกเว้นวัตถุรูปนั้น ยังไม่ได้เสียไปจริง ๆ เป็นแต่เพียงมีสิ่งอื่นมาทำให้สูญเสียสมรรถภาพไปเท่านั้น เมื่อแก้ไขได้แล้ว ย่อมสามารถกลับใช้การได้เหมือนเดิม]

อวัตถุรูป คือ รูปที่ไม่ได้เป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิก มี ๒๒ รูป ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๒ [เว้นวัตถุรูป ๖] หมายความว่า รูปที่นอกจากวัตถุรูป ๖ เหล่านั้น เป็นรูปที่ไม่ได้เป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิกโดยตรง เป็นแต่เพียงส่วนประกอบของร่างกายเท่านั้น หรือเป็นตัวสนับสนุนให้วัตถุรูปเหล่านั้นได้ตั้งอาศัยและเป็นไปได้เท่านั้น เพราะฉะนั้น รูปเหล่านั้นจึงชื่อว่า อวัตถุรูป อนึ่ง บุคคลจะใช้อวัตถุรูปเหล่านี้ทำหน้าที่แทนวัตถุรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ใช้ผิวหนังดูรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ดื่มกินอาหาร เป็นต้น ย่อมไม่ได้โดยประการทั้งปวง

อีกประการหนึ่ง วัตถุรูปแต่ละอย่างย่อมใช้งานได้เฉพาะในหน้าที่ของตน ๆ เท่านั้น กล่าวคือ จักขุปสาทรูปย่อมใช้ในการมองดูเพื่อให้จักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้นรับรู้รูปารมณ์ได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้จักขุปสาทรูปนี้ในการฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ และคิดนึกอารมณ์ได้เลย ดังนี้เป็นต้น วัตถุรูปอื่น ๆ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ และสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถรับรู้อารมณ์ใด ๆ ได้เลย เพราะไม่มีวัตถุรูปทั้ง ๖ ดังกล่าวแล้วนั่นเอง

จิต ๘๕ ดวงที่อาศัยวัตถุรูปเกิด

จักขุวิญญาณจิต ๒ อาศัย จักขุวัตถุ เกิด

โสตวิญญาณจิต ๒ อาศัย โสตวัตถุ เกิด

ฆานวิญญาณจิต ๒ อาศัย ฆานวัตถุ เกิด

ชิวหาวิญญาณจิต ๒ อาศัย ชิวหาวัตถุ เกิด

กายวิญญาณจิต ๒ อาศัย กายวัตถุ เกิด

มโนธาตุ ๓ มโนวิญญาณธาตุ ๗๒ [เว้นอรูปวิบากจิต ๔] อาศัยหทยวัตถุเกิด

ในจิต ๘๕ ดวงนี้ จิต ๔๓ ดวง ได้แก่ โทสมูลจิต ๒ อเหตุกจิต ๑๗ [เว้นมโนทวาราวัชชนจิต ๑] มหาวิบากจิต ๘ รูปาวจรจิต ๑๕ โสดาปัตติมรรคจิต ๑ ต้องอาศัยวัตถุรูปเกิดอย่างแน่นอน หมายความว่า จิตเหล่านี้เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยปราศจากวัตถุรูปไม่ได้เลย เพราะจิตทั้ง ๔๓ ดวงนี้ เป็นจิตที่เกิดขึ้นได้เฉพาะกับบุคคลที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมิ ๒๖ เท่านั้น [ตามสมควรที่จะเกิดได้ในบุคคลนั้น ๆ] ส่วนจิตอีก ๔๒ ดวง ได้แก่ อกุศลจิต ๑๐ [เว้นโทสมูลจิต ๒] มโนทวาราวัชชนจิต ๑ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อรูปาวจรกุศลจิต ๔ อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ โลกุตตรจิต ๗ [โสดาปัตติมรรคจิต ๑] นั้น ถ้าเกิดกับบุคคลที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมิ ๒๖ ย่อมต้องอาศัยวัตถุรูปเกิด แต่ถ้าเกิดกับบุคคลที่เกิดอยู่ในอรูปภูมิ ๔ ที่เรียกว่า จตุโวการภูมิ นั้น ไม่ต้องอาศัยวัตถุรูปใด ๆ เกิดขึ้นเลย เพราะอรูปพรหมทั้งหลาย เป็นบุคคลที่ไม่มีรูปใด ๆ เกิดขึ้นเลย

ส่วนจิตอีก ๔ ดวง คือ อรูปาวจรวิปากจิต ๔ นั้น เป็นจิตที่ไม่ต้องอาศัยวัตถุรูปใดๆ เกิดขึ้นเลย เพราะอรูปาวจรวิปากจิต ๔ ดวงนั้น เกิดขึ้นเฉพาะกับอรูปพรหมทั้งหลายในอรูปภูมิ ๔ เท่านั้น ซึ่งเป็นภพภูมิที่ไม่มีรูปใด ๆ เกิดขึ้นเลยนั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |