| |
วิปัสสนูปกิเลสไม่เกิดแก่บุคคล ๓ จำพวก   |  

วิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้ ย่อมไม่เกิดแก่บุคคล ๓ จำพวก คือ

๑. พระอริยบุคคล เพราะเป็นผู้ได้เคยผ่านพ้นวิปัสสนูปกิเลสมาแล้ว ย่อมมีความรู้แจ้งชัดว่า ทางไหนเป็นทางถูก และทางไหนเป็นทางผิด ย่อมสามารถดำเนินไปในทางที่ถูกต้องได้ด้วยตนเองแล้ว

๒. ผู้ปฏิบัติผิดจากแนวทางแห่งวิปัสสนา เพราะเป็นผู้ที่ไม่สามารถก้าวถึงวิปัสสนาญาณ จึงไม่สามารถบรรลุถึงตรุณอุทยัพพยญาณได้

๓. ผู้มีความเพียรอ่อนเกินไป เพราะความเพียรที่เป็นไปโดยสม่ำเสมอเท่านั้นจึงจะเกิดวิปัสสนูปกิเลสได้

เมื่อวิปัสสนูปกิเลสปรากฏเกิดขึ้นแล้ว พระโยคีบุคคลผู้ที่ไม่ประกอบด้วยสัปปายะ [ในที่นี้หมายถึง กัลยาณมิตร คือ ครูอาจารย์ผู้อุปถัมภ์] ก็ยากที่จะก้าวล่วงพ้นวิปัสสนูปกิเลสไปได้ เพราะทำให้เกิดความชอบใจติดใจ หรือเพลิดเพลินหลงใหลอยู่ในวิปัสสนูปกิเลสนั้นเสีย อุปมาเหมือนบุคคลผู้เดินทางไกลและกันดาร เมื่อเดินไปพบศาลาพักร้อนข้างทางเข้า ถ้าไม่มีความอุตสาหะพยายามแล้ว ก็จะแวะเข้าไปพักผ่อนหลับนอนเสีย ไม่เดินทางต่อไป การที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ หรือเกิดความล่าช้าจนเสียการณ์ ข้อนี้ฉันใด พระโยคีบุคคลผู้ติดใจหลงใหลในวิปัสสนูปกิเลสก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่สามารถก้าวพ้นจากวิปัสสนูปกิเลสแล้วยกจิตให้ขึ้นสู่วิปัสสนาญาณชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับได้ หรือทำให้เสียเวลาในการเจริญวิปัสสนาไป บางท่านก็ต้องตกอยู่ในภาวะที่ว่า “สายเกินไปเสียแล้ว” ดังนี้ก็มี ฉะนั้น จึงต้องมีกัลยาณมิตร คือ ครูอาจารย์ผู้ควบคุมดูแลในการเจริญกรรมฐานหรือผู้สอบอารมณ์กรรมฐานช่วยแก้อารมณ์ให้ จึงจะสามารถก้าวล่วงจากวิปัสสนูปกิเลสและก้าวขึ้นสู่วิปัสสนาญาณขั้นสูงขึ้นไปได้ ด้วยเหตุนี้วิปัสสนูปกิเลสนี้ จึงเป็นเครื่องเศร้าหมองและเป็นอันตรายของวิปัสสนาญาณ ทั้งเป็นอมัคคะ คือ มิใช่หนทางให้บรรลุถึงมรรคผลได้ ส่วนหนทางของวิปัสสนานั้น คือ การเห็นแจ้งรูปนามโดยความเป็นไตรลักษณ์ เห็นความเกิดขึ้นและความดับไปในตรุณอุทยัพพยญาณนั้น จึงจะก้าวพ้นจากอำนาจของวิปัสสนูปกิเลสได้

วิปัสสนูปกิเลสนี้เกิดในขณะแห่งมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความรู้ความเห็นด้วยปัญญาอันยิ่งว่าทางไหนเป็นหนทางแห่งวิปัสสนาญาณ และทางไหนไม่ใช่หนทางแห่งวิปัสสนาญาณ เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ย่อมสามารถดำเนินไปสู่หนทางโดยชอบอันมุ่งตรงไปสู่การบรรลุมรรคผลได้ ฉะนั้น มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี้ จึงชื่อว่า ญาณวินิจฉัย กล่าวคือ เป็นปัญญาที่ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอารมณ์ระหว่างรูปนามกับวิปัสสนูปกิเลสว่า อารมณ์ใดเป็นหนทางนำไปสู่พระนิพพาน อารมณ์ใดไม่ใช่หนทางนำไปสู่พระนิพพาน เมื่อทำการวินิจฉัยอยู่อย่างนี้เนือง ๆ ย่อมทำให้ปัญญาญาณมีความบริสุทธิ์หมดจดยิ่งขึ้น จนมีความรู้ความเข้าใจได้อย่างถูกต้องว่า สภาวะอย่างไหนเป็นหนทางแห่งวิปัสสนาญาณและสภาวะอย่างไหนไม่ใช่หนทางแห่งวิปัสสนาญาณ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ย่อมสามารถข้ามพ้นจากสภาพของวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่างนั้นไปได้ เมื่อข้ามพ้นได้แล้ว ก็จะถึงสภาวะแห่งปัญญาญาณ ที่เรียกว่า พลวอุทยัพพยญาณ แปลว่า อุทยัพพยญาณที่มีกำลังแก่กล้า ย่อมก้าวพ้นจากอำนาจของวิปัสสนูปกิเลสได้เด็ดขาดแล้ว ด้วยการทำลายนิกันติตัณหาในวิปัสสนูปกิเลสนั้นโดยไม่มีความติดข้องอยู่อีกเลย เพราะได้ทำการวินิจฉัยจนรู้แน่ชัดว่า มิใช่หนทางไปสู่พระนิพพานแล้ว เป็นแต่เพียงสังขารธรรมที่เกิดขึ้นแทรกแซงและปิดกั้นทำให้วิปัสสนาญาณเศร้าหมองเท่านั้น แต่สภาพธรรมเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปและดับไปเป็นธรรมดา ไม่ใช่สิ่งยั่งยืนถาวรแต่อย่างใด ดังนี้แล้ว เป็นอันว่า ได้ดำเนินมาถึงมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิแล้ว เป็นความบริสุทธิ์หมดจดแห่งญาณปัญญาในข้อที่รู้ว่าทางหรือมิใช่ทาง อุปมาเหมือนบุคคลผู้เดินทางมาถึงทาง ๒ แพร่ง แล้วได้ทำการกำหนดวินิจฉัยด้วยปัญญาและประสบการณ์ของตนว่า ทางนี้เป็นทางที่ถูกและมีความปลอดภัย ควรเดินไป ทางนั้นเป็นทางที่ผิดและเต็มไปด้วยอันตราย ไม่ควรเดิน เมื่อทำการวินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงมุ่งหน้าเดินไปตามทางที่ถูกต้องนั้น ข้อนี้ฉันใด พระโยคีบุคคลก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อได้ทำการพิจารณาเห็นว่า รูปนามเท่านั้นเป็นหนทางไปสู่พระนิพพาน ดังนี้แล้ว จึงมุ่งหน้าไปสู่อารมณ์รูปนาม กล่าวคือ การกำหนดพิจารณาความเป็นไตรลักษณ์แห่งรูปนามโดยการใส่ใจถึงความเกิดและความดับไปของรูปนามนั้นอยู่เนือง ๆ ด้วยความพากเพียรพยายามอย่างสม่ำเสมอ

สรุปความว่า อุทยัพพยญาณ นี้ มี ๒ ระดับ คือ ตรุณอุทยัพพยญาณ และ พลวอุทยัพพยญาณ ตรุณอุทยัพพยญาณนี้แหละ ที่วิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้น

ตรุณอุทยัพพยญาณที่ยังมีวิปัสสนูปกิเลสเกิดปะปนอยู่ด้วยนั้น เรียกว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ กำลังอยู่ในระหว่างการวินิจฉัยว่า ทางหรือมิใช่ทาง กล่าวอย่างสามัญก็คือ “ยังอยู่ในระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อ” ต่อเมื่อได้ทำการวินิจฉัยอย่างเด็ดขาดว่า วิปัสสนูปกิเลสเป็นอมัคคะ คือ ไม่ใช่หนทางไปสู่พระนิพพานแล้ว ย่อมพากเพียรพยายามเจริญอุทยัพพยญาณอันมีรูปนามเป็นอารมณ์นั้นต่อไป โดยไม่ใส่ใจในวิปัสสนูปกิเลสนั้นเลย หรือทำการพิจารณาสภาพของวิปัสสนูปกิเลสนั้นโดยความเป็นไตรลักษณ์ จนบรรลุถึงอุทยัพพยญาณที่ไม่มีวิปัสสนูปกิเลสเกิดปะปนด้วย อันได้ชื่อว่า พลวอุทยัพพยญาณ ซึ่งเป็นอุทยัพพยญาณที่มีกำลังแก่กล้า สามารถก้าวพ้นจากอำนาจแห่งวิปัสสนูปกิเลสได้เด็ดขาดแล้ว จึงจะบรรลุถึงปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งปัญญาญาณที่รู้เห็นโดยถูกต้องแล้วว่าหนทางแห่งรูปนามนี้ เป็นหนทางนำไปสู่พระนิพพานอย่างแน่นอน

ตรุณอุทยัพพยญาณ นั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัคคามัคคววัตถานญาณ แปลว่า ญาณที่กำหนดพิจารณาว่า เป็นหนทางแห่งการตรัสรู้ หรือว่า มิใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ ญาณนี้สามารถละอมัคเคมัคคสัญญา คือ ความสำคัญหมายด้วยอำนาจความเข้าใจผิดในรูปนามว่า มิใช่หนทางไปสู่พระนิพพาน หรือความเข้าใจผิดในวิปัสสนูปกิเลสว่า เป็นหนทางไปสู่พระนิพพานได้

พลวอุทยัพพยญาณ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุทยญาณ แปลว่า ปัญญาญาณที่เจริญขึ้น ดุจพระอาทิตย์อุทัยขึ้นฉะนั้น ญาณนี้สามารถละอุจเฉททิฏฐิ คือ ความเห็นผิดว่า สัตว์ทั้งหลายตายแล้วย่อมขาดสูญ ว่างเปล่าไป ดังนี้เสียได้ เพราะได้เห็นทั้งความเกิดและความดับวนเวียนสืบเนื่องกันไปอย่างไม่ขาดสายแห่งรูปนามนั่นเอง จึงทำให้มีความเห็นกระจ่างแจ้งว่า เมื่อยังมีเหตุปัจจัยอยู่ รูปนามและสัตว์ทั้งหลายก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีกร่ำไป จนกว่าจะหมดเหตุปัจจัย คือ บรรลุถึงมรรคญาณ ผลญาณที่ทำการประหาณอนุสัยกิเลสโดยสมุจเฉทปหานตามลำดับ จนหมดสิ้นจากขันธสันดานแล้วนั่นแหละ เมื่อนั้น รูปนามหรือสัตว์ทั้งหลายจึงจะไม่เกิดอีกต่อไป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |