| |
ความหมายของกายปสาทรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๑๗๕ ได้แสดงความหมายของกายปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้

กาย คือ รูปอันเป็นที่เกิดของส่วนทั้งหลายมีผมเป็นต้นและอกุศลธรรมที่น่ารังเกียจ หมายถึง ร่างกายที่ประกอบด้วยรูปร่างสัณฐาน แต่ในที่นี้ประสงค์เอากายปสาทรูปที่เกิดร่วมกับรูปกาย

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๑๗๖ ท่านได้แสดงความหมายของกายปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้

กายปสาทรูปย่อมแผ่ไปตลอดสรีระทุกส่วนที่เหลือลง เว้นแต่ที่ตั้งแห่งเตโชธาตุที่เกิดแต่กรรม [ปาจกเตโชคือไฟธาตุที่ย่อยอาหาร] และปลายผม ปลายขน ปลายเล็บ และหนังอันผาก แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ กายปสาทรูปนั้นก็ไม่ปะปนกับปสาทรูปนอกจากนี้ เพราะมีลักษณะต่างกัน จริงอยู่ โคจรรูปมีรูปและรสเป็นต้น แม้มีที่อาศัยร่วมกัน ก็ไม่ปะปนกันก่อน เพราะความต่างแห่งลักษณะ

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะรุ.๑๗๗ ได้แสดงความหมายของกายปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้

สำหรับกายปสาท ที่ชื่อว่า กายะ นั้น เป็นการแสดงโดยอ้อม เรียกว่า เอกเทสูปจารนัย คือ การยกเอาคำว่า กายะ ที่เป็นชื่อของร่างกายทั้งหมดนั้นมาตั้งในกายปสาท ที่เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเท่านั้น

หรืออีกนัยหนึ่ง กายปสาท ชื่อว่า กายะ นั้น เป็นการแสดงโดยฐานูปจารนัย [นัยโดยอ้อม ที่เป็นการเรียกชื่อโดยฐานที่ตั้ง] คือ การยกเอาคำว่า กายะ ที่เป็นชื่อของร่างกาย ซึ่งเป็นที่เกิดแห่งกายปสาทมาตั้งเป็นชื่อของกายปสาทที่เป็นผู้อาศัยเกิด

กายปสาทนี้เป็นธรรมชาติรูปชนิดหนึ่งที่เกิดจากกรรม มีความใสบริสุทธิ์ เป็นเครื่องรับสิ่งสัมผัสต่าง ๆ ที่เป็นความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง กายปสาทนี้เกิดอยู่ในร่างกายทั่วไป ยกเว้นแต่ปลายผม ปลายขน ปลายเล็บ หนังที่หนา และที่รวมแห่งอาหารใหม่ใต้ลำไส้ใหญ่ อันเป็นสถานที่เกิดของปาจกเตโช [คือไฟธาตุที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร] มีหน้าที่ให้สำเร็จกิจ ๒ อย่างคือ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งกายวิญญาณจิตอย่างหนึ่ง และเป็นทวารอันเป็นที่เกิดแห่งกายทวารวิถีจิตหรือกายทวาริกจิตอย่างหนึ่ง

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๑๗๘ ได้แสดงความหมายของกายปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้

กายปสาทรูป เป็นรูปที่มีความใสสามารถรับโผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็นร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึง ได้

กายปสาทนี้ใช้เรียกชื่อว่า กายะ นั้น เป็นการแสดงโดยอ้อม คือ ยกเอาคำว่า กาย อันเป็นชื่อของร่างกายทั้งหมดนั้นมาตั้งในกายปสาทที่เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเท่านั้น

อีกนัยหนึ่ง กายปสาทที่ชื่อว่า กายะ นั้น นับเป็นการแสดงโดยอ้อม คือ ยกคำว่า กายะ ที่เป็นชื่อของร่างกาย อันเป็นที่เกิดแห่งกายปสาทมาตั้งในกายปสาทที่เป็นผู้อาศัยเกิด

กายปสาทนี้เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน มีสภาพเป็นความใส และเป็นเครื่องรับสิ่งสัมผัสต่าง ๆ มีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง ได้ กายปสาทนี้เกิดอยู่ทั่วร่างกาย เว้นไว้แต่ที่ปลายผม ปลายขน ปลายเล็บ หนังที่หนา และที่รวมแห่งอาหารใหม่ใต้ลำไส้ใหญ่อันเป็นสถานที่ทำงานของปาจกเตโช มีหน้าที่ให้สำเร็จกิจ ๒ ประการคือ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งกายวิญญาณประการหนึ่ง และเป็นทวารอันเป็นที่เกิดแห่งกายทวารวิถีอีกประการหนึ่ง

บทสรุปของผู้เขียน :

กายปสาทรูป หมายถึง รูปธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดจากกรรม มีความใสสามารถรับกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ คือ สัมผัสต่าง ๆ ได้แก่ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง ได้ กายปสาทรูปนี้เกิดซึมซาบอยู่ทั่วร่างกาย เว้นปลายผม ปลายขน ปลายเล็บ หนังที่ด้าน และที่รวมแห่งอาหารใหม่ใต้ลำไส้ใหญ่ อันเป็นสถานที่เกิดและที่ทำงานของปาจกเตโชธาตุคือไฟธาตุที่ย่อยอาหาร กายปสาทรูปนี้สามารถให้สำเร็จกิจ ๒ ประการคือ

๑. เป็นวัตถุคือเป็นที่อาศัยเกิดแห่งกายวิญญาณจิต ๒ ดวง พร้อมด้วยเจตสิกที่ประกอบ [สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗]

๒. เป็นทวารคือเป็นประตูหรือช่องทางรับรู้โผฏฐัพพารมณ์คือสัมผัสสต่าง ๆ ได้แก่ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง กล่าวคือ ความสุขสบายกาย อาการเย็น ร้อน อบอุ่น นุ่มนวล แข็งกระด้าง ปวด เมื่อย คัน เป็นต้น ของกายทวารวิถีจิตหรือกายทวาริกจิต ๔๖ ดวงได้แก่ กามาวจรจิต ๔๖ ดวง [เว้นจักขุวิญญาณจิต ๒ โสตวิญญาณจิต ๒ ฆานวิญญาณจิต ๒ และชิวหาวิญญาณจิต ๒] ที่ปรากฏเกิดขึ้นรับรู้โผฏฐัพพารมณ์ คือ สัมผัสต่าง ๆ ที่ปรากฏทางกายทวาร

สรุปความแล้ว ร่างกายส่วนใดมีความรู้สึกสุขสบาย เจ็บ ปวด เมื่อย คัน เย็น ร้อน อบอุ่น นุ่มนวล แข็งกระด้าง เป็นต้น ร่างกายส่วนนั้นแหละ ชื่อว่า มีกายปสาทรูปเกิดอยู่


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |