| |
ตัวอย่างโมหมูลจิต   |  

โมหมูลจิต ดวงที่ ๑ อุเปกขาสหคตัง วิจิกิจฉาสัมปยุตตัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยความสงสัย ตัวอย่างเช่น นายฉงน เป็นคนมีความรู้น้อย ขาดประสบการณ์ในชีวิต และไม่มีความรู้เรื่องธรรมะเลย วันหนึ่ง เพื่อนมาชวนไปไหว้พระที่วัดระฆังโฆสิตาราม เมื่อไปเห็นพระพุทธรูปในพระอุโบสถวัดระฆัง ที่ประทับนั่งยิ้มรับฟ้าอยู่ เพื่อนก็พาไปกราบและพรรณนาถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ตลอดถึงเรื่องบาป เรื่องบุญทั้งหลาย อย่างพิสดาร แต่นายฉงน เป็นคนที่ไม่เคยมีความรู้เรื่องนี้เลย จึงเกิดความสงสัยว่า “จะเป็นจริงดังที่เพื่อนพูดหรือเปล่าหนอ” จึงได้ทำเฉย เหมือนไม่รู้เรื่องเลย

โมหมูลจิต ดวงที่ ๒ อุเปกขาสหคตัง อุทธัจจสัมปยุตตัง แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้น พร้อมด้วยความเฉย ๆ ประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน เช่น นายพล่าน เป็นคนชอบคิดฟุ้งซ่านไปในเรื่องต่าง ๆ จนเกินเลยสาระไป วันหนึ่ง เดินไปพบเห็นผู้คนตามท้องถนน ตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งมีปฏิกิริยาต่าง ๆ สงบเสงี่ยมบ้าง รื่นเริงสนุกสนานบ้าง หัวเราะหยอกล้อบ้าง หรือเกิดทะเลาะวิวาทกันบ้าง แต่นายพล่านมัวแต่คิดเรื่องอื่นเรื่อยเปื่อยไปต่าง ๆ นานาอยู่ในใจ จึงไม่ได้สนใจพินิจพิจารณาในปฏิกิริยาของบุคคลหรือสิ่งต่าง ๆ ที่ตนเองเดินผ่านไปนั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |