| |
เหตุให้เกิดโทสะสสังขาริก ๖ ประการ   |  

การที่บุคคลจะเกิดโทสมูลจิตที่เป็นสสังขาริก คือ เกิดขึ้นโดยต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนนั้น มีเหตุปัจจัยสนับสนุน ๖ ประการอย่างใดอย่างหนึ่งคือ

๑. อะโทสัชฌาสะยะตา มีอัธยาศัยไม่เป็นคนมักโกรธ หมายความว่า เป็นบุคคลที่ไม่สั่งสมความโกรธ ไม่ค่อยอาฆาตพยาบาทจองเวรใครหรือวัตถุสิ่งใดนัก เป็นคนใจเย็น หรือเป็นบุคคลที่ไม่เก็บกดความรู้สึกทางด้านจิตใจให้เป็นปมด้อย หรือปมเขื่องของชีวิต มองโลกในแง่ดี มีนิสัยไม่หยาบกระด้าง เมื่อประสบพบเห็นกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาเข้า ก็ไม่โกรธ ไม่แสดงอาการไม่พอใจ หรือหงุดหงิดรำคาญใจขึ้นมาทันที ต้องอาศัยการกระตุ้นหรือการชักนำจากบุคคลอื่น หรือกระตุ้นตนเอง จึงจะทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอาย ความหงุดหงิดรำคาญใจ ความประทุษร้ายต่ออารมณ์ที่ได้ประสบพบเห็นนั้นขึ้นมาได้ หรือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี เกิดความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งของที่เป็นที่รักยิ่งไป เช่น นางวิสาขามหาอุบาสิกา เมื่อหลานสาวตาย ก็ทำให้ร้องไห้เสียใจ ดังนี้เป็นต้น ย่อมทำให้เกิดโทสมูลจิตที่เป็นสสังขาริกขึ้นมาได้

๒. คัมภีระปะกะติตา มีความคิดสุขุม หมายความว่า เป็นบุคคลผู้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีความคิดอ่านที่สุขุมคัมภีรภาพ มีสติปัญญาละเอียดลึกซึ้ง มักมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ มีวิจารณญาณในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่ประสบพบเห็นอย่างรอบคอบโดยเหตุโดยผลที่ดีอยู่เสมอ ฉะนั้น เมื่อประสบพบเห็นกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาเข้า ก็ไม่โกรธ ไม่แสดงอาการไม่พอใจหรือหงุดหงิดรำคาญใจขึ้นมาทันที ต้องอาศัยการกระตุ้นหรือการชักนำจากบุคคลอื่น หรือกระตุ้นตนเอง จึงจะทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอาย ความหงุดหงิดรำคาญใจ ความประทุษร้ายต่ออารมณ์ที่ได้ประสบพบเห็นนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาได้

๓. พหุสสุตะตา มีการศึกษามาก หมายความว่า เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในชีวิตมาก มีการศึกษาดี มีสติปัญญาที่ละเอียดลึกซึ้ง มีความรู้ความเข้าใจในเหตุผลของสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริงอย่างถูกต้อง มีจุดยืนทางความคิดบนพื้นฐานแห่งความถูกต้องเป็นของตนเอง ไม่หลงใหลงมงายไปตามความคิดความเห็นหรือลัทธิที่ผิด ๆ ไม่ปล่อยใจไปตามกระแสกิเลสกระแสสังคม มีวิจารณญาณในการพินิจพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างโดยรอบคอบอยู่เสมอ ทำให้มีความรู้เท่าทันสภาพทั้งปวงตามความเป็นจริง ฉะนั้น เมื่อประสบพบเห็นกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาเข้า ก็ไม่โกรธ ไม่แสดงอาการไม่พอใจหรือหงุดหงิดรำคาญใจขึ้นมาทันที ต้องอาศัยการกระตุ้นหรือการชักนำจากบุคคลอื่น หรือกระตุ้นตนเองขึ้นมา จึงจะทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอาย ความหงุดหงิดรำคาญใจ ความประทุษร้ายต่ออารมณ์ที่ได้ประสบพบเห็นนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาได้

๔. อิฏฐารัมมะณะสะมาโยโค ได้ประสบกับอารมณ์ที่ดีอยู่เสมอ หมายความว่า เป็นผู้ที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เต็มไปด้วยอารมณ์ที่ทำให้เกิดความปลอดโปร่งโล่งใจ ไม่มีความหวาดระแวงภัยใด ๆ หรือได้รับความสุขสบายในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ต้องตะเกียกตะกายดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ได้ปัจจัยเครื่องอุปโภคบริโภคที่ประณีตและอุดมสมบูรณ์ ไม่มีความเก็บกดให้เป็นปมด้อยของชีวิต หรือไม่ได้อยู่ในสถานการณ์คับขันที่ไม่น่าไว้วางใจ ไม่มีความวิตกกังวลในเรื่องใด ๆ ฉะนั้น เมื่อประสบพบเห็นกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาเข้า ก็ไม่โกรธ ไม่แสดงอาการไม่พอใจหรือหงุดหงิดรำคาญใจขึ้นมาทันที ต้องอาศัยการกระตุ้นหรือการชักนำจากบุคคลอื่น หรือกระตุ้นตนเองขึ้นมา จึงจะทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอาย ความหงุดหงิดรำคาญใจ ความประทุษร้ายต่ออารมณ์ที่ได้ประสบพบเห็นนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาได้

๕. อาฆาตะวัตถุสะมาโยโค ได้ประสบกับอาฆาตวัตถุ หมายความว่า เป็นผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ เต็มไปด้วยศัตรูคู่อริ ประสบกับอาฆาตวัตถุ ๑๐ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างดังกล่าวแล้ว เมื่อประสบพบเห็นกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาเข้าเช่นนั้น ก็ทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอาย ความหงุดหงิดรำคาญใจ ความประทุษร้ายต่ออารมณ์ที่ได้ประสบพบเห็นนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาได้ เพราะสถานการณ์บีบบังคับ คือ กระตุ้นให้เกิดความโกรธ ความกลัว หรือความอาย เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง

๖. สะสังขารโทสะชานะนะตา ถูกกระตุ้นให้เกิดความโกรธ หมายความว่า เมื่อบุคคลนั้นได้ประสบพบเห็นกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาดังที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๑ ถึงข้อ ๕ ข้อใดข้อหนึ่งเข้าแล้ว ก็ยังไม่โกรธ ไม่แสดงอาการไม่พอใจ หรือไม่แสดงความหงุดหงิดรำคาญใจขึ้นมาทันที ต้องอาศัยการกระตุ้นหรือการชักนำจากบุคคลอื่น หรือกระตุ้นตนเองโดยคิดประมวลเรื่องราวหรือเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่ผ่านมาแล้ว เพื่อกระตุ้นให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอาย เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อถูกกระตุ้นดังนี้แล้ว จึงจะทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอาย ความหงุดหงิดรำคาญใจ ความประทุษร้ายต่ออารมณ์ที่ได้ประสบพบเห็นนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาได้

เหตุปัจจัยทั้ง ๖ ประการนี้ ลำดับที่ ๖ เป็นเหตุปัจจัยหลัก ที่จะทำให้บุคคลนั้น เกิดโทสะที่เป็นสสังขาริกขึ้นมา เนื่องจากเหตุปัจจัยลำดับที่ ๑ ถึงลำดับที่ ๔ นั้น เป็นเหตุปัจจัยองค์รวมที่ทำให้บุคคลนั้นไม่ค่อยมีความเก็บกดทางด้านจิตใจ ไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดอุปนิสัยเป็นคนมักโกรธ ซึ่งเป็นตัวประคับประคองหล่อเลี้ยงไว้ ส่วนเหตุปัจจัยลำดับที่ ๕ นั้น เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความโกรธ ความไม่พอใจ หรือ อาฆาต พยาบาท จองเวร โดยทั่วไป ฉะนั้น ผู้ศึกษาพึงนำเหตุปัจจัยเหล่านี้ มาเป็นองค์ประกอบรวมในการพิจารณาถึงเหตุที่ทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอาย เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอาย เป็นต้นนั้น ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักนำได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง และสามารถหาวิธีการป้องกัน หรือตัดเหตุปัจจัยแห่งโทสะประเภทนั้น ๆ เพื่อให้มีสภาพบรรเทาเบาบางลงไป ไม่ให้เป็นไฟรุมเร้าเผาไหม้จิตใจของตนเองและลุกลามเผาผลาญบุคคลอื่นให้เร่าร้อนตามไปด้วย เมื่อทำได้เช่นนี้ ก็จะทำให้ตนเองและสังคมอยู่ได้อย่างสงบสุข เกิดสันติภาพขึ้นในสังคมและประเทศชาติ เมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ไม่ต้องไปหมกไหม้ในเมืองนรก เพราะอำนาจความโกรธ ความอาฆาตพยาบาทจองเวรนั้น ได้ชื่อว่า เป็นผู้สร้างภูมิต้านทานและสร้างที่พึ่งให้กับตนเองอย่างแท้จริง

อนึ่ง ความเป็นผู้มีเมตตา คือ ความรักใคร่ กรุณา คือ ความสงสารเห็นใจ มุทิตา คือ ความพลอยยินดีกับบุคคลที่ได้ดีมีสุข อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลางไม่ขวนขวายจนเกินเหตุเกินวิสัย ในเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ผู้เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายทั้งหลายทั้งปวง ย่อมเป็นเกราะป้องกัน เป็นภูมิต้านทานความโกรธ ความอาฆาต พยาบาทจองเวร ได้เป็นอย่างดี ฉะนั้น ผู้มุ่งความสงบสุข มุ่งสันติภาพของชีวิตและของสังคม พึงตระหนักถึงข้อธรรมทั้ง ๔ ประการ ที่เรียกว่า พรหมวิหารธรรม ให้ดี ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันความโกรธ ความอาฆาต พยาบาทจองเวร และดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างสุขสบาย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |