| |
การพิจารณาอาการของไตรลักษณ์โดยพิสดาร   |  

ไตรลักษณ์นี้เป็นลักษณะสามัญธรรมดาที่เป็นสภาวะธรรมชาติแห่งนามรูปอันเป็นสังขารธรรมทั้งหลาย โดยจะต้องเป็นไปอย่างนี้อยู่เสมอเหมือนกันทั้งหมด ถ้ากล่าวโดยพิสดารแล้ว อาการแห่งไตรลักษณ์นี้ย่อมมี ๒๐๐ ประการ กล่าวคือ อนิจจะ มีลักษณะ ๑๐ ประการ ทุกขะ มีลักษณะ ๒๕ ประการ และอนัตตะ มีลักษณะ ๕ ประการ รวมเป็นอาการแห่งไตรลักษณ์ ๔๐ ประการ เมื่อจำแนกโดยขันธ์ทั้ง ๕ แล้ว ก็เป็นขันธ์ละ ๔๐ ประการ จึงรวมเป็นอาการแห่งไตรลักษณ์ ๒๐๐ ประการ คือ รูปขันธ์ ๔๐ ประการ เวทนาขันธ์ ๔๐ ประการ สัญญาขันธ์ ๔๐ ประการ สังขารขันธ์ ๔๐ ประการ และวิญญาณขันธ์ ๔๐ ประการ ดังนั้น ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคอรรถกถา ท่านพระพุทธโฆสาจารย์จึงได้แสดงอารมณ์อันเป็นไตรลักษณ์ว่า ย่อมปรากฏแก่ผู้เพ่งเบญจขันธ์ไว้ ๔๐ ประการ คือ

๑. อนิจจลักษณะ

อนิจจลักษณะ คือ ลักษณะที่แสดงให้เห็นความไม่เที่ยง มีการพิจารณาโดยอาการ ๑๐ ประการ คือ

[๑] อนิจจโต พิจารณาโดย ความไม่เที่ยง

[๒] อธุวโต พิจารณาโดย ความไม่ยั่งยืน

[๓] อสารโต พิจารณาโดย ความไม่มีแก่นสาร

[๔] จวโต พิจารณาโดย ความเป็นของเคลื่อนไหว

[๕] ปุโลกโต พิจารณาโดย ความเป็นของแตกดับ

[๖] วิปริณามโต พิจารณาโดย ความเปลี่ยนแปลงกลับกลอก

[๗] มรณธัมมโต พิจารณาโดย ความเป็นของมีการตายเป็นธรรมดา

[๘] วิภาวโต พิจารณาโดย ความเป็นของฉิบหาย

[๙] สังขตโต พิจารณาโดย ความต้องปรุงแต่งเนือง ๆ

[๑๐] ปภังคุณโต พิจารณาโดย ความต้องแตกกระจัดกระจาย

๒. ทุกขลักษณะ

ทุกขลักษณะ คือ ลักษณะที่แสดงให้เห็นความเป็นทุกข์ มีการพิจารณาโดยอาการ ๒๕ ประการ ได้แก่

[๑] ทุกขโต พิจารณาโดย ความเป็นทุกข์ [ทนอยู่ไม่ได้]

[๒] ภยโต พิจารณาโดย ความเป็นของน่ากลัว [เป็นภัย]

[๓] อีติโต พิจารณาโดย ความเป็นของน่าหวาดเสียว [เป็นเสนียดจัญไร]

[๔] อุปัททวโต พิจารณาโดย ความเป็นสภาพที่ข่มเหง [เป็นอุบาทว์]

[๕] อุปสัคคโต พิจารณาโดย ความเป็นของขัดข้อง [เป็นอุสรรค]

[๖] โรคโต พิจารณาโดย ความเป็นของเสียดแทง [เป็นโรค]

[๗] อาพาธโต พิจารณาโดย ความเป็นสภาพที่ป่วยไข้

[๘] คัณฑโต พิจารณาโดย ความเป็นประดุจหัวฝี

[๙] สัลลโต พิจารณาโดย ความเป็นประดุจลูกศร

[๑๐] อฆโต พิจารณาโดย ความเป็นของไม่มีราคา

[๑๑] อตาณโต พิจารณาโดย ความเป็นของไม่มีสิ่งต้านทาน

[๑๒] อเลนโต พิจารณาโดย ความเป็นของไม่มีสิ่งป้องกัน

[๑๓] อสรณโต พิจารณาโดย ความเป็นของไม่มีที่พึ่ง

[๑๔] อาทีนวโต พิจารณาโดย ความเป็นของมีโทษ

[๑๕] อนีฆมูลโต พิจารณาโดย ความเป็นมูลของความทุกข์ที่บีบคั้น

[๑๖] วธกโต พิจารณาโดย ความเป็นประดุจเพชฌฆาต

[๑๗] สาสวโต พิจารณาโดย ความเป็นไปเพื่ออาสวะ [เป็นอารมณ์ของอาสวะ]

[๑๘] มารามิสสโต พิจารณาโดย ความเป็นเหยื่อของกิเลสมาร

[๑๙] ชาติธัมมโต พิจารณาโดย ความเป็นไปเพื่อความเกิดเป็นธรรมดา

[๒๐] ชราธัมมโต พิจารณาโดย ความเป็นไปเพื่อความแก่เป็นธรรมดา

[๒๑] พยาธิธัมมโต พิจารณาโดย ความเป็นไปเพื่อความป่วยไข้เป็นธรรมดา

[๒๒] โสกธัมมโต พิจารณาโดย ความเป็นไปเพื่อความโศกเป็นธรรมดา

[๒๓] ปริเทวธัมมโต พิจารณาโดย ความเป็นไปเพื่อความร่ำไห้เป็นธรรมดา

[๒๔] อุปายาสธัมมโต พิจารณาโดย ความเป็นไปเพื่อความคับแค้นใจเป็นธรรมดา

[๒๕] กิเลสธัมมโต พิจารณาโดย ความเป็นไปเพื่อความเศร้าหมองเป็นธรรมดา

๓. อนัตตลักษณะ

อนัตตลักษณะ คือ ลักษณะที่แสดงให้เห็นความเป็นของไม่ใช่ตัวตน มีการพิจารณาโดยอาการ ๕ ประการ ได้แก่

[๑] อนัตตโต พิจารณาโดย ความไม่มีตัวตน [บังคับบัญชาไม่ได้]

[๒] ปรโต พิจารณาโดย ความเป็นของอื่น [ไม่ใช่ของเรา]

[๓] ริตตโต พิจารณาโดย ความเป็นของนิดหน่อย

[๔] ตุจฉโต พิจารณาโดย ความเป็นของว่างเปล่าจากแก่นสาร

[๕] สุญญโต พิจารณาโดย ความเป็นสภาพสูญ ไม่ใช่สัตว์บุคคล

ไตรลักษณ์นี้ เป็นลักษณะสามัญหรือเป็นอาการที่เป็นปกติธรรมดาของนามรูปที่เป็นสังขารธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้น รูปปรมัตถ์ก็คือรูปธรรมที่พระโยคีบุคคลสามารถพิจารณาโดยความเป็นไตรลักษณ์ได้รุ.๔๕


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |