| |
เหตุให้ได้ปัญญา ๘ ประการ   |  

การที่บุคคลจะได้ปัญญาหรือทำให้ปัญญาเกิดขึ้นได้นั้น เรียกว่า ปัญญาปฏิลาโภ ซึ่งมีเหตุปัจจัย ๘ ประการ คือ

๑. มีหิริโอตตัปปะและความเคารพอย่างแรงกล้าในท่านผู้เป็นครู

๒. หมั่นเข้าไปหาท่านผู้เป็นครูนั้นเสมอ ๆ พร้อมทั้งสอบถามข้ออรรถข้อธรรมตามกาลอันสมควร

๓. ฟังพระสัทธรรมแล้วทำความสงบกายและความสงบใจให้ถึงพร้อม

๔. มีศีล สำรวมในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร

๕. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ และสั่งสมสุตะ

๖. บำเพ็ญเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม

๗. ไม่พูดเรื่องไร้สาระ แสดงธรรมเอง ทั้งเชื้อเชิญผู้อื่นให้แสดงธรรมบ้าง

๘. หมั่นพิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปของอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่เสมอ

ดังหลักฐานที่มาในปัญญาสูตร พระสุตตันตปิฎก ปฐมปัณณาสก์ อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความเกิดมียิ่งขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว เหตุและปัจจัย ๘ ประการคืออะไรบ้าง ? คือ

๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้อยู่อาศัยครูหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานครูรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่เธอเข้าไปตั้งไว้ซึ่งหิริโอตตัปปะ ความรักความหวังดี และความเคารพอย่างแรงกล้า นี้เป็นเหตุข้อที่ ๑ เป็นปัจจัยข้อที่ ๑ เป็นไปเพื่อความได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความเกิดมียิ่งขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้วนั้น

๒. ภิกษุนั้นอยู่อาศัยครูหรือเพื่อสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่เธอเข้าไปตั้งไว้ซึ่งหิริโอตตัปปะ ความรักความปรารถนาดี และความเคารพยำเกรงอย่างแรงกล้า ที่เธอเข้าไปหาท่านเสมอ ๆ สอบถามข้ออรรถข้อธรรมว่า “ท่านขอรับ ข้อนี้เป็นอย่างไร เนื้อความของข้อนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยสิ่งที่ยังมิได้เปิดเผย ทำให้ง่ายซึ่งสิ่งที่ยังมิได้ทำให้ง่าย บรรเทาความสงสัยในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยแก่เธอ นี้เป็นเหตุข้อที่ ๒ เป็นปัจจัยข้อที่ ๒ เป็นไปเพื่อความได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความเกิดมียิ่งขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้วนั้น

๓. เมื่อภิกษุนั้นได้ฟังธรรมนั้นแล้วย่อมทำความสงบ ๒ อย่าง คือ ความสงบกายและความสงบใจ ให้ถึงพร้อม นี้เป็นเหตุข้อที่ ๓ เป็นปัจจัยข้อที่ ๓ เป็นไปเพื่อความได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความเกิดมียิ่งขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้วนั้น

๔. ภิกษุนั้นเป็นผู้มีศีล คือ เป็นผู้สำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่เป็นนิตย์ มีปกติเห็นภัยในโทษความผิดแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นเหตุข้อที่ ๔ เป็นปัจจัยข้อที่ ๔ เป็นไปเพื่อความได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความเกิดมียิ่งขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้วนั้น

๕. ภิกษุผู้เป็นพหูสูต คือ เป็นผู้ทรงสุตะและสั่งสมสุตะอยู่เสมอ ได้แก่ การเป็นผู้หมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ธรรมเหล่าใดงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด กล่าวถึงพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ธรรมทั้งหลายเห็นปานนั้น อันภิกษุนั้นได้สดับแล้วเป็นอันมาก และทรงจำไว้ได้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดทั้งอรรถและพยัญชนะด้วยปัญญาอันยิ่ง นี้เป็นเหตุข้อที่ ๕ เป็นปัจจัยข้อที่ ๕ เป็นไปเพื่อความได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความเกิดมียิ่งขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้วนั้น

๖. ภิกษุนั้นเป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม คือ เป็นผู้มีเรี่ยวแรง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เป็นเหตุข้อที่ ๖ เป็นปัจจัยข้อที่ ๖ เป็นไปเพื่อความได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความเกิดมียิ่งขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้วนั้น

๗. ภิกษุนั้นขณะอยู่ท่ามกลางสงฆ์ ย่อมไม่พูดเรื่องไม่เป็นประโยชน์ แสดงธรรมเองบ้าง เชิญชวนให้รูปอื่นแสดงบ้าง ไม่มีความตระหนี่ ไม่ดูหมิ่นอาการนิ่งแบบพระอริยเจ้า [ซึ่งเป็นการนิ่งอย่างรู้เท่าทัน] นี้เป็นเหตุข้อที่ ๗ เป็นปัจจัยข้อที่ ๗ เป็นไปเพื่อความได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความเกิดมียิ่งขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้วนั้น

๘. ภิกษุนั้นเป็นผู้พิจารณาเห็นความเกิดและความดับไปของอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ว่า “รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นดังนี้ ความดับแห่งเวทนาเป็นดังนี้ สัญญาเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นดังนี้ ความดับแห่งสัญญาเป็นดังนี้ สังขารเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นดังนี้ ความดับแห่งสังขารเป็นดังนี้ วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ นี้เป็นเหตุข้อที่ ๘ เป็นปัจจัยข้อที่ ๘ เป็นไปเพื่อความได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความเกิดมียิ่งขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้วนั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |