| |
สรุปความเรื่องอรูปาวจรจิต   |  

๑. อรูปาวจรจิต เป็นจิตที่รับรู้อารมณ์ที่เป็นอรูปกรรมฐาน กล่าวคือ

๑] อากาสานัญจายตนจิต ๓ ย่อมรับรู้ได้เฉพาะกสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติเป็นอารมณ์ได้อย่างเดียวเท่านั้น

๒] วิญญาณัญจายตนกุศลจิต ๑ วิญญาณัญจายตนวิปากจิต ๑ ย่อมรับรู้ อากาสานัญจายตนกุศลจิตที่ตนได้มาแล้ว เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ส่วนวิญญาณัญจายตนกิริยาจิตนั้น สามารถรับรู้อากาสานัญจายตนกุศลจิต ๑ อากาสานัญจายตนกิริยาจิต ๑ ตามอารมณ์ที่พระอรหันต์นั้นใช้เจริญวิญญาณัญจายตนฌานกิริยาได้

๓] อากิญจัญญายตนจิต ๓ ย่อมรับรู้ได้เฉพาะนัตถิภาวบัญญัติเป็นอารมณ์ได้อย่างเดียวเท่านั้น

๔] เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิต ๑ เนวสัญญานาสัญญายตนวิปากจิต ๑ ย่อมรับรู้อากิญจัญญายตนกุศลจิตที่ตนได้มาแล้ว เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ส่วน เนวสัญญานาสัญญายตนกิริยาจิตนั้น สามารถรับรู้อากิญจัญญายตนกุศลจิต ๑ และ อากิญจัญญายตนกิริยาจิต ๑ ตามแต่อารมณ์ที่พระอรหันต์นั้นใช้เจริญวิญญาณัญจา ยตนฌานกิริยาได้

๒. อรูปาวจรจิตเป็นจิตที่เกิดขึ้นได้เฉพาะกับติเหตุกบุคคลเท่านั้น คือ บุคคลที่ปฏิสนธิมาด้วยไตรเหตุ ที่เรียกว่า สชาติกปัญญิกบุคคล แปลว่า บุคคลผู้มีปัญญาเกิดมาพร้อมกับปฏิสนธิ ได้แก่ ติเหตุกปุถุชน ๑ และพระอริยบุคคล ๔ ตามสมควรที่จะเกิดได้ กล่าวคือ

๑] อรูปาวจรกุศลจิต ย่อมเกิดได้กับติเหตุกปุถุชน ๑ พระเสกขบุคคล ๓ ที่ได้อรูปฌาน ตามสมควรแก่ฌานที่บุคคลนั้นจะทำได้

๒] อรูปาวจรวิปากจิต เกิดได้กับติเหตุกปุถุชน ๑ พระอริยบุคคล ๔ ที่เกิดอยู่ในอรูปภูมิ เพียงบุคคลละ ๑ ดวงเท่านั้น เฉพาะวิปากจิตที่นำตนไปเกิด

๓] อรูปาวจรกิริยาจิต เกิดได้เฉพาะกับพระอรหันต์ที่ได้อรูปฌานเท่านั้น

๓. อรูปาวจรจิต เป็นจิตที่เกิดได้เฉพาะในสุคติภูมิเท่านั้น กล่าวคือ

๑] อรูปาวจรกุศลจิต ย่อมเกิดกับบุคคลที่เกิดในกามสุคติภูมิ ๗ รูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] และอรูปภูมิ ๔ ตามสมควรแก่ฌานที่บุคคลนั้นสามารถทำได้

๒] อรูปาวจรวิปากจิต ย่อมเกิดได้เฉพาะในภูมิที่ตนเองนำเกิด กล่าวคือ อากาสานัญจายตนวิปากจิต ๑ เกิดได้เฉพาะในอากาสานัญจายตนภูมิ วิญญาณัญจายตนวิปากจิต ๑ เกิดได้เฉพาะในวิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนวิปากจิต ๑ เกิดได้เฉพาะในอากิญจัญญายตนภูมิ เนวสัญญานาสัญญายตนวิปากจิต ๑ เกิดได้เฉพาะในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ เท่านั้น

๓] อรูปาวจรกิริยาจิต ย่อมเกิดได้เฉพาะกับพระอรหันต์ที่อยู่ในกามสุคติภูมิ ๗ รูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] และอรูปภูมิ ๔ ตามสมควรแก่ฌานที่พระอรหันต์นั้นจะสามารถทำได้

๔. อรูปาวจรจิต เป็นจิตที่เข้าถึงความแนบแน่นในอารมณ์ เรียกว่า อัปปนาจิต หรือ ฌานจิต กล่าวคือ

๑] อรูปาวจรกุศลจิตนั้น เกิดขึ้นโดยการเจริญสมถกรรมฐานมีอรูปกรรมฐานเป็นอารมณ์ จนถึงความแนบแน่นในอารมณ์นั้นอย่างยิ่ง เป็นอัปปนาสมาธิโดยความไม่หวั่นไหว เรียกว่า อาเนญชากุศลจิต แล้วฝึกฝนอรูปฌานกุศลที่ได้แล้วนั้นให้เป็นวสีทั้ง ๕ ต่อจากนั้น จึงทำการเลื่อนอรูปฌานให้สูงขึ้นไปโดยลำดับโดยการเปลี่ยนอารมณ์ของอรูปฌานนั้น ๆ จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิต อรูปฌานกุศลจิตนี้ เป็นจิตที่เกิดขึ้นทำหน้าที่ชวนกิจ คือ เสพอารมณ์โดยความเป็นอรูปาวจรกุศลกรรม อันจะส่งผลเป็นอรูปาวจรวิปากจิตต่อไปในชาติหน้า [ถ้าอรูปฌานนั้นยังไม่เสื่อมก่อนที่บุคคลนั้นจะตายลง]

๒] อรูปาวจรวิปากจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยความเป็นผลของอรูปาวจรกุศลจิต ฉะนั้น จึงมีสภาพแนบแน่นในอารมณ์เป็นอัปปนาจิตหรือฌานจิตเหมือนกันกับ อรูปาวจรกุศลจิตด้วย เรียกว่า อาเนญชาวิปากจิต แต่ต่างจากกุศลจิต คือ เป็นจิตที่เข้าถึงความเป็นสภาพที่สุกงอมและหมดกำลังลงแล้ว ซึ่งเป็นจิตที่ไม่ต้องขวนขวายทำให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด กล่าวคือ เมื่อมีอรูปาวจรกุศลจิตเกิดมาก่อนแล้ว อรูปาวจรวิปากจิตต้องมีแน่นอน [ถ้าอรูปาวจรกุศลจิตนั้นไม่เสื่อมก่อนบุคคลนั้นจะตายลง] และเป็นจิตที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ในรูปภูมิ ๔ ตามสมควรแก่ภูมิที่เกิดได้ ดังกล่าวไปแล้ว

๓] อรูปาวจรกิริยาจิตนั้น เกิดขึ้นได้เฉพาะกับพระอรหันต์ที่ทำการเจริญสมถะกรรมฐานโดยมีอรูปกรรมฐานเป็นอารมณ์ จนถึงความแนบแน่นในอารมณ์นั้นอย่างยิ่งเป็นอัปปนาสมาธิโดยเป็นสภาพไม่หวั่นไหว เรียกว่า อาเนญชากิริยาจิต แล้วทำการฝึกฝนอรูปฌานกิริยาที่ได้แล้วนั้นให้เป็นวสีทั้ง ๕ ต่อจากนั้น จึงทำการเลื่อนอรูปฌานให้สูงขึ้นไปตามลำดับ โดยการเปลี่ยนอารมณ์ของอรูปฌานกิริยานั้น ๆ ขึ้นไปโดยลำดับ จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนกิริยาจิต

จบอรูปาวจรจิต


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |