| |
โลภมูลจิต   |  

โลภมูลจิต หมายถึง จิตที่มีสภาพเป็นความโลภ ความยินดีติดใจ ความยึดติด เป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งโลภเจตสิกที่เป็นตัวนำ เป็นรากเหง้าเค้ามูล จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาเหล่านี้ คือ

๑. ความต้องการ หมายถึง สภาพของโลภะที่เกิดขึ้นในระยะเริ่มต้น ซึ่งยังไม่มีกำลังมากนัก เนื่องจากเหตุปัจจัยสนับสนุน ยังมีกำลังน้อยอยู่

๒. ความอยากได้ หมายถึง สภาพของโลภะที่เริ่มมีกำลังมากขึ้น เนื่องจากได้เหตุปัจจัยสนับสนุน เช่น เก็บกดความต้องการสิ่งนั้นไว้นาน ๆ หรือ ได้ประสบสิ่งนั้นบ่อย ๆ

๓. ความกำหนัด หมายถึง สภาพของโลภะที่มีกำลังมากขึ้นจนปรากฏเป็นความกระหาย ดิ้นรน ใคร่ที่จะเสพสิ่งนั้นจนทนแทบไม่ได้ หรือข่มแทบไม่อยู่

๔. ความเพลิดเพลิน หมายถึง สภาพของโลภะที่เกิดขึ้นจากการได้เสพได้สัมผัสกับสิ่งที่ต้องการอยากได้และที่กำหนัดยินดีนั้นสมความปรารถนา เมื่อได้เสพแล้วย่อมเกิดความเพลิดเพลินหลงใหล

๕. ความยินดีติดใจ หมายถึง สภาพของโลภะที่เกิดขึ้นต่อจากความเพลิดเพลินหลงไหลเมื่อได้เสพสิ่งนั้นสมปรารถนาแล้ว ทำให้เกิดความยินดีติดใจ คร่ำครวญโหยหา อยากที่จะเสพสิ่งนั้นอยู่เสมอ ๆ

๖. ความชอบใจ หมายถึง สภาพของโลภะที่เกิดขึ้นต่อจากความยินดีติดใจ เมื่อได้เสพบ่อย ๆ ดังที่ใจต้องการและคร่ำครวญโหยหาแล้ว ย่อมมีความชอบใจ พอใจต่ออารมณ์นั้น ๆ

๗. ความยึดมั่น หมายถึง สภาพของโลภะที่เกิดขึ้นต่อจากความชอบใจ เมื่อได้เสพคุ้นและติดใจ ย่อมทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นว่า เป็นสาระ เป็นแก่น เป็นสิ่งมีคุณค่า ควรทะนุถนอมหวงแหน ควรแสวงหามาครอบครองเป็นเจ้าของ

๘. ความหวัง หมายถึง สภาพของโลภะที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากสภาพของความยึดมั่นในอารมณ์นั้น เมื่อเกิดการพลัดพรากจากสิ่งนั้น หรือสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป แตกดับสลายไป ก็ทำให้เกิดความหวัง ความปรารถนาอยากได้สิ่งที่คล้ายกันนั้น หรือสิ่งอื่นมาชดเชยสิ่งที่สูญเสียไป ย่อมทำให้เกิดความดิ้นรนและคร่ำครวญโหยหาอยู่เป็นนิตย์

๙. ความคลั่งไคล้ หมายถึง สภาพของโลภะที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากสภาพของความหวังที่สมหวังแล้วได้สิ่งที่หวังนั้นมา ก็ทำให้เกิดความคลั่งไคล้ คลอเคลีย หลงใหล ติดใจ หวงแหน ไม่จืดจางคลายหายไป

๑๐. ความปรารถนาลามก หมายถึง สภาพของโลภะที่เกิดขึ้น เป็นสภาพที่สืบเนื่องมาจากความคลั่งไคล้ ที่สั่งสมจนหนาแน่นในสันดาน ทำให้เกิดความปรารถนาอยากได้ที่ไร้ขอบเขต ไม่มีที่สิ้นสุด ได้สิ่งนี้แล้ว ก็อยากได้สิ่งนั้น ได้สิ่งนั้นแล้ว ก็อยากได้สิ่งโน้น เป็นเช่นนี้อยู่ร่ำไป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |