| |
ตามนัยแห่งกำเนิด   |  

บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่เกิดในภูมิต่าง ๆ นั้น เมื่อว่าโดยอาการที่เกิดขึ้น ที่เรียกว่า “กำเนิด” หรือตามบาลีว่า “โยนิ” แล้ว มีการแสดงกำเนิดของสัตว์ทั้งหลายไว้ ๓ หรือ ๔ ประการ คือ

แสดงกำเนิดของสัตว์ ๓ ประการ

๑. สังเสทชะกำเนิด หมายถึง การเกิดขึ้นในเถ้าไคล หรือในยางเหนียว

๒. โอปปาติกะกำเนิด หมายถึง การเกิดผุดขึ้นโดยเติบโตทันที

๓. คัพภเสยยกะกำเนิด หมายถึง การเกิดขึ้นภายในครรภ์มารดา

คัพภเสยยกะกำเนิดนี้ ยังแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ

๑. อัณฑชะกำเนิด หมายถึง การเกิดภายในฟองไข่

๒. ชลาพุชะกำเนิด หมายถึง การเกิดภายในมดลูก

แสดงกำเนิดของสัตว์ ๔ ประเภท

๑. สังเสทชะกำเนิด ๒. โอปปาติกะกำเนิด

๓. อัณฑชะกำเนิด ๔. ชลาพุชะกำเนิด

อธิบายกำเนิด ๔

จักได้อธิบายขยายความตามนัยแห่งกำเนิดทั้ง ๔ ดังต่อไปนี้

๑. สังเสทชะกำเนิด

สังเสทชะกำเนิด หมายถึง การเกิดขึ้นในเถ้าไคล หรือในยางเหนียว สัตว์ที่ปฏิสนธิด้วยสังเสทชะกำเนิดนั้น ไม่ต้องอาศัยบิดามารดาเป็นปัจจัยให้เกิด แต่อาศัยเถ้าไคลที่ชุ่มชื้น โลหิต หรือต้นไม้ ดอกไม้ ผลไม้ เป็นต้น เช่น นางจิญจมานวิกาเกิดจากต้นมะขาม นางเวฬุวดีเกิดจากต้นไผ่ นางปทุมวดีเกิดจากดอกบัว โอรสของนางปทุมวดี ๔๙๙ องค์เกิดจากโลหิต เหล่านี้เป็นต้น สัตว์ที่เป็นสังเสทชะกำเนิดนี้ ไม่ได้เกิดโดยมีร่างกายใหญ่โตขึ้นทันที แต่จะเกิดมาเป็นตัวเล็ก ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้นมา คล้ายกับพวกคัพภเสยยกะกำเนิด สัตว์ที่เป็นสังเสทชะกำเนิดนี้ มีได้เฉพาะในกามภูมิ ได้แก่ มนุษย์ เทวดาชั้นต่ำ [ภุมมัฏฐเทวดา] สัตว์เดรัจฉาน เปรต [เว้นพวกนิชฌามตัณหิกเปรต] อสุรกาย ส่วนสัตว์นรก เทวดาชั้นสูง และพรหมทั้งหลาย ย่อมไม่มีสัตว์ที่เป็นสังเสทชะกำเนิดนี้เลย

๒. โอปปาติกะกำเนิด

โอปปาติกะกำเนิด หมายถึง การเกิดผุดขึ้นโดยเติบโตทันที สัตว์ที่ปฏิสนธิด้วยโอปปาติกะกำเนิดนั้น ไม่ต้องอาศัยอะไรเกิด หมายความว่า ไม่ต้องอาศัยทั้งครรภ์มารดา ต้นไม้ ผลไม้ ดอกไม้ หรือที่ชุ่มชื้น เป็นต้นแต่ประการใด อาศัยเพียงอดีตกรรมอย่างเดียว เมื่อขณะที่บังเกิดขึ้นมานั้น เป็นการปรากฏเกิด โดยมีร่างกายใหญ่โตขึ้นมาเต็มที่ทันที หรือบังเกิดเป็นอรูปพรหม มีแต่นามธรรมสำเร็จเป็นสัตว์ขึ้นมาครบบริบูรณ์ทันที การเกิดแบบนี้เป็นเหมือนวัตถุที่ตกลงมาจากฟ้า สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะกำเนิดนี้ ได้แก่ มนุษย์สมัยต้นกัปป์ เทวดาทั้ง ๖ ชั้น [เว้นเทวดาชั้นต่ำบางจำพวก] พรหมทั้งหมด เปรตทั้งหลาย รวมทั้งนิชฌามตัณหิกเปรต อสุรกาย และสัตว์นรกทั้งหมด

๓. อัณฑชะกำเนิด

อัณฑชะกำเนิด หมายถึง การเกิดภายในฟองไข่ สัตว์ที่ปฏิสนธิด้วยอัณฑชะกำเนิดนี้ ต้องอาศัยเกิดจากครรภ์มารดา และเมื่อเริ่มเกิด คือ ตั้งแต่ปฏิสนธิทีแรกนั้น ต้องอยู่ในฟองไข่ก่อน เมื่อมารดาคลอดฟองไข่ออกมาแล้ว จึงจะฟักออกจากฟองไข่อีกทีหนึ่ง การเกิดของสัตว์ที่เป็นอัณฑชะกำเนิดนี้ จะค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ จนมีอวัยวะครบบริบูรณ์ ได้แก่ สัตว์เดรัจฉาน มีเป็ด ไก่ นก จิ้งจก ตุ๊กแก และงู เป็นต้น เปรตบางจำพวก เทวดาชั้นต่ำบางจำพวก มนุษย์ที่เป็นอัณฑชะกำเนิดก็มี ดังที่ท่านแสดงไว้ว่า พระ ๒ รูป ที่มีชื่อว่า เทวภาติกเถระ ซึ่งเป็นลูกของโกนตะกินนรีนั้น เมื่อเกิดทีแรก ก็เกิดเป็นฟองไข่ก่อน ต่อมาจึงฟักออกจากฟองไข่นั้น เป็นตัวมนุษย์อีกทีหนึ่ง

๔. ชลาพุชะกำเนิด

ชลาพุชะกำเนิด หมายถึง การเกิดภายในมดลูกของมารดา สัตว์ที่ปฏิสนธิด้วย ชลาพุชะกำเนิดนี้ ต้องอาศัยเกิดในมดลูกที่อยู่ในครรภ์มารดา แต่ไม่ต้องมีฟองไข่หุ้มห่อเหมือนอัณฑชะกำเนิด เมื่อถึงเวลาแล้ว ย่อมคลอดออกจากครรภ์มารดาเป็นตัวตนออกมาโดยตรง และเกิดเป็นทารกเล็ก ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ ได้แก่ มนุษย์โดยมาก สัตว์เดรัจฉานบางจำพวก เทวดาชั้นต่ำบางจำพวก [ที่เป็นภุมมัฏฐเทวดา] เปรตบางจำพวก [ยกเว้นนิชฌามตัณหิกเปรต] และอสุรกายบางจำพวก


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |