| |
ลักขณาทิจตุกะของชีวิตินทรียเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของชีวิตินทรียเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรู้อารมณ์ได้เป็นพิเศษไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ ด้วยการรักษาสัมปยุตตธรรมไว้ในอารมณ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. สะหะชาตานัง อะนุปาละนะลักขะณัง มีการดูแลรักษาสหชาตธรรม เป็นลักษณะ หมายความว่า ชีวิตินทรียเจตสิกนี้ เปรียบเหมือนน้ำที่รักษาดอกบัวเพื่อไม่ให้เหี่ยวแห้ง หรือเปรียบเหมือนพี่เลี้ยงที่ดูแลรักษาเด็ก เพื่อมิให้เด็กเป็นอันตราย แต่น้ำก็เพียงแต่รักษาดอกบัวในระหว่างที่ดอกบัวยังไม่เน่า และพี่เลี้ยงก็เพียงแต่ดูแลรักษาเด็กในระหว่างที่เด็กยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น น้ำไม่สามารถที่จะรักษาไม่ให้ดอกบัวเน่า หรือ พี่เลี้ยงไม่สามารถจะรักษาไม่ให้เด็กตายได้ เพราะการเน่าของดอกบัว ย่อมเป็นไปตามธรรมชาติ หรือการตายของเด็ก ย่อมเป็นไปตามกฎแห่งกรรมของเด็กเพราะพี่เลี้ยงได้ทำหน้าที่ของตนเต็มที่แล้ว แต่เด็กหมดเหตุปัจจัยที่จะอยู่ต่อไปแล้ว

๒. สะหะชาตานัง ปะวัตตะนะระสัง ทำให้สหชาตธรรมที่เกิดขึ้น เป็นไปได้จนถึงที่สุด [ภังคขณะ] เป็นกิจ หมายความว่า หน้าที่ของชีวิตินทรียเจตสิก มีเพียงแค่รักษานามธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกับตน จนถึงวาระสุดท้าย คือ ถึงขณะดับเท่านั้น เมื่อจิตเจตสิกดับไปแล้ว ย่อมเป็นอันหมดหน้าที่ของชีวิตินทรียเจตสิก ต่อเมื่อจิตเจตสิกเกิดขึ้นใหม่ ชีวิตินทรียเจตสิกจึงเกิดขึ้นทำหน้าที่รักษาสัมปยุตตธรรมใหม่อีก

๓. สะหะชาตานัง ฐะปะนะปัจจุปปัฏฐานัง ทำให้สหชาตธรรมตั้งอยู่ได้ จนถึงภังคขณะ เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า เมื่อพระโยคีบุคคลพิจารณาสภาวะของชีวิตินทรียเจตสิกแล้ว ย่อมรู้ได้ว่า นามธรรมของสัตว์ทั้งหลาย เมื่อดับแล้วย่อมเกิดขึ้นอีก ถ้ายังมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นได้อีก เป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยไปไม่ขาดสาย สำหรับสัตว์ที่มีรูปขันธ์นั้น จิตตชรูป คือ รูปที่เกิดจากจิต อันได้แก่ อาการเคลื่อนไหวต่าง ๆ มีการยืน การเดิน การนั่ง การนอน การพูดคุย การหัวเราะ การร้องไห้ เป็นต้น จึงต้องเป็นไปตามสภาวะจิตที่เป็นสมุฏฐานให้เกิดขึ้น ชีวิตินทรียเจตสิกย่อมทำหน้าที่หล่อเลี้ยงจิตตชรูปเหล่านั้นด้วย เพราะฉะนั้น จิตตชรูปของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้นและเป็นไปในทำนองเดียวกับจิตและเจตสิกนั้นเอง จนกว่าจะบรรลุถึงอนุปาทิเสสนิพพาน คือ การปรินิพพานที่เป็นการดับทั้งรูปนามขันธ์หมดสิ้น ความเป็นไปของรูปธรรมและและนามธรรมจึงจะสิ้นสุดลง

พระปัญญาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทราบอาการเป็นไปของชีวิตินทรียเจตสิกที่ประกอบกับจิตดวงหนึ่ง ๆ ได้โดยละเอียดว่า สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย คือ จิตและเจตสิก เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มิใช่ว่าจะดับไปเลยทันที ย่อมมีระหว่างพักอยู่ชั่วขณะหน่อยหนึ่ง ที่เรียกว่า ฐีติขณะ การที่จิตและเจตสิกมีเวลาตั้งตัวอยู่ได้นี้ เป็นเพราะชีวิตินทรียเจตสิกนั่นเอง เป็นผู้หล่อเลี้ยงรักษาไว้ ไม่ให้ดับไปก่อนถึงกำหนดอายุของสหชาตธรรมเหล่านั้น

๔. ยาเปตัพพะปะทัฏฐานัง วา เสสะขันธัตต์ยะปะทัฏฐานัง มีสหชาตธรรมที่ควรดูแลรักษา คือ กำลังเกิดขึ้นยังไม่ดับไป เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หรือ มีนามขันธ์ ๓ ที่เหลือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า การที่ชีวิตินทรียเจตสิก จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมีสหชาตธรรม คือ จิต เจตสิก และจิตตชรูป ที่เกิดพร้อมกับตนแสดงอาการจะเกิดขึ้นก่อน หรือเป็นสภาวธรรมที่มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว ชีวิตินทรียเจตสิกจึงจะสามารถเกิดขึ้นได้ นี้หมายเอาเฉพาะในปัญจโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีทั้งรูปขันธ์และนามขันธ์เกิดได้ทั้งหมด สำหรับในจตุโวการภูมิ คือ อรูปภูมิ ๔ นั้น ต้องมีนามขันธ์ ๓ ที่เหลือ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และวิญญาณขันธ์ แสดงอาการจะเกิดขึ้น หรือมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว เป็นปทัฏฐานก่อน ชีวิตินทรียเจตสิกนี้จึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีธรรมเหล่านี้เสียแล้ว ชีวิตินทรียเจตสิกย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะไม่มีสิ่งที่จะอนุบาลรักษา เปรียบเหมือนพี่เลี้ยงจะมีได้ ก็ต้องมีทารกที่เกิดมาให้เลี้ยงดู ถ้าไม่มีทารกเกิดมา พี่เลี้ยงก็มีไม่ได้เช่นเดียวกัน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |