| |
สรุปความเรื่องโลกุตตรจิต   |  

โลกุตตรจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ที่มีสภาพเหนือสรรพสิ่งที่มีอยู่ในโลกทั้ง ๓ [คือกามโลก รูปโลก อรูปโลก] ได้แก่ พระนิพพาน เพราะสภาพของพระนิพพานนั้น ไม่มีการเกิดดับและไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นแต่ประการใด แต่มีสภาพคงที่ เรียกว่า นิจจัง และเป็นสภาพที่มีความสันติสุข เรียกว่า สุข เพราะพระนิพพานนั้นไม่มีกิเลสเข้าไปเกี่ยวเกาะให้เกิดความเศร้าหมองหรือเร่าร้อน จึงเรียกว่า บรมสุข แต่พระนิพพานนั้นมีสภาพเป็นนามธรรม คือ ไม่มีรูปร่างสัณฐานหรือไม่มีสีสันวรรณะ เรียกว่า อนัตตา เมื่อจิตเข้าไปรับรู้สภาพของพระนิพพานเป็นอารมณ์อย่างเดียวโดยไม่ได้รับอารมณ์อย่างอื่นเลย ฉะนั้น จึงเรียกว่า โลกุตตรจิต

โลกุตตรจิต เป็นจิตที่เข้าถึงความแนบแน่นอยู่ในพระนิพพานนั้นอย่างเดียว เป็นอัปปนาสมาธิ จึงเรียกว่า อัปปนาจิต หรือ ฌานจิต

อนึ่ง โกลุตตรจิตนี้ เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพื่อทำบุคคลให้ข้ามพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ กล่าวคือ มรรคจิตนั้น เกิดขึ้นเพื่อทำการประหาณอนุสัยกิเลสให้ขาดลงเป็นสมุจเฉทปหาน ตามสมควรแก่กำลังแห่งมรรคนั้น ๆ [ยกเว้นสกิทาคามิมรรคที่สามารถประหาณได้เพียงทำให้เบาบางลง เรียกว่า ตนุกรปหาน เท่านั้น] พร้อมกับรับพระนิพพานเป็นอารมณ์ โดยฐานะเป็นชวนจิต ที่ทำการเสพอารมณ์โดยความเป็นโลกุตตรกุศลกรรม อันจะส่งผลเป็นโลกุตตรวิปากจิตหรือผลจิตต่อไป แต่เป็นวิวัฏฏคามินีกุศล คือ กุศลจิตที่พาให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ ส่วนผลจิตนั้น เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่เสวยวิมุตติสุขจากการที่มรรคจิตของตน ๆ ได้ทำการประหาณอนุสัยกิเลสเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นติดต่อจากมรรคจิตของตน เป็นอกาลิกธรรม คือ ธรรมที่ไม่ต้องรอกาลเวลา หรือเกิดขึ้นในขณะที่พระอริยบุคคลนั้น ๆ เข้าผลสมาบัติ เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยฐานะเป็นชวนจิต คือ เสพอารมณ์โดยความเป็นการเสวยวิมุตติสุขในภพชาติปัจจุบันเท่านั้น ไม่มีการนำเกิดในภพชาติต่อไปอีก เพราะว่า เป็นผลของวิวัฏฏคามินีกุศล เนื่องจากมรรคจิตได้ทำลายวัฏฏะไปแล้ว ผลจิตจึงไม่เป็นไปเพื่อวัฏฏะอีก

โลกุตตรธรรมทั้งหมด มี ๙ ประการ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

ในบรรดาโลกุตตรธรรมทั้ง ๙ นั้น ธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรมโดยแท้ ได้แก่ พระนิพพานอย่างเดียว เพราะพระนิพพานนั้นไม่มีการเกิดดับเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีความทุกข์ที่ต้องทนยาก มีแต่ความเที่ยงแท้คงที่และเป็นบรมสุข ส่วนโลกุตตรจิตนั้น จัดเป็นโลกุตตรธรรมโดยอ้อม เพราะว่า โลกุตตรจิตนั้น มีการเกิดดับเป็นไปตามกฎของไตรลักษณ์ แต่เพราะโลกุตตรจิตนั้น เข้าไปรับรู้พระนิพพานเป็นอารมณ์อย่างเดียว ฉะนั้น จึงเรียกว่า โลกุตตรธรรม โดยอนุโลมตามพระนิพพานซึ่งเป็นโลกุตตรธรรมนั้น ถ้าหากว่า โลกุตตรจิต ไม่ได้รับพระนิพพานเป็นอารมณ์แล้วไซร้ ก็ไม่ชื่อว่า โลกุตตรธรรม อนึ่ง ถ้าโลกุตตรจิตนั้น ไม่ได้รับพระนิพพานเป็นอารมณ์อย่างเดียว คือ สามารถรับอารมณ์อย่างอื่นอีกได้ด้วย ก็ไม่จัดเป็นโลกุตตรธรรมเช่นเดียวกัน

จบโลกุตตรจิต


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |