| |
อานิสงส์ของฌาน ๒๘ ประการ   |  

๑. อัตตานัง รักขะติ ย่อมอภิบาลรักษาตน หมายความว่า ผู้ที่มีกำลังฌานแก่กล้าย่อมสามารถข่มกามราคะและโทสะไว้ได้ตลอดเวลา ทำให้ไม่มีความกำหนัดยินดีในเรื่องกาม [เพศ] และไม่มีโทสะ คือ ความโกรธ ความขุ่นเคือง ความประทุษร้าย ย่อมสงบระงับไป ทำให้อยู่ได้อย่างสงบสุข มีจิตใจที่มั่นคง เป็นอิสระแก่ตนเอง ไม่ตกเป็นทาสของกิเลสตัณหา ชื่อว่า ย่อมอยู่เป็นสุขในภพปัจจุบัน เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมได้เสวยสุขในพรหมโลกต่อไป

๒. อายุง เทติ ย่อมให้มีอายุยืน หมายความว่า บุคคลที่มีกำลังฌานแก่กล้านั้น อานุภาพแห่งฌาน ย่อมหล่อเลี้ยงอวัยวะน้อยใหญ่ในร่างกายให้เป็นปกติ มีความต้านทานโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี และเมื่อเกิดความป่วยไข้หรือถูกทำร้ายให้ได้รับบาดเจ็บ ย่อมสามารถใช้กำลังฌานขับพิษไข้ หรือดับทุกขเวทนาทางกายให้หยุดชะงักลงได้ ทำให้บุคคลนั้น มีอายุยืนนาน และเมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ไปเกิดในพรหมโลก ซึ่งมีอายุขัยยืนยาวนานกว่ากามโลกอีกหลายเท่า

๓. พะลัง เทติ ย่อมให้มีกำลังแข็งแรงดี หมายความว่า ผู้ที่ได้ฌานและฝึกฝนฌานให้เป็นวสีทั้ง ๕ และหมั่นเข้าฌานสมาบัติอยู่เสมอ ย่อมทำให้เกิดพลังทางกายและพลังทางใจอย่างมหาศาล สามารถแสดงฤทธิ์เดชต่าง ๆ ได้ หรือแม้แต่กำลังภายในในเวลาปกติ ก็มีมากกว่าบุคคลทั่วไป เพราะว่า จิตของบุคคลนั้นได้ฝึกฝนจนมีพลังภายในอย่างมหาศาลและแผ่ออกมาหล่อเลี้ยงพลังทางกายด้วย

๔. วัชชัง ปิทะหะติ ย่อมปิดกั้นเสียซึ่งโทษ หมายความว่า เมื่อบุคคลได้ฌานและฝึกฝนฌานสมาบัติให้มีกำลังมั่นคงดีแล้ว ย่อมข่มกิเลสนิวรณ์ต่าง ๆ ที่จะแสดงปฏิกิริยาอย่างหยาบล่วงออกมาทางกายทางวาจานั้นให้สงบระงับราบคาบไป ย่อมเป็นอิสระแก่ตนเอง ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส กิเลสทั้งหลายที่เหลืออยู่ในใจก็ไม่มีกำลังพอที่จะสามารถชักนำให้กระทำอกุศลกรรมที่หยาบ ๆ ได้ บุคคลนั้น จึงไม่ต้องรับโทษจากการกระทำความชั่วทางกาย ทางวาจา เพราะมีฌานสมาบัติช่วยคุ้มครองป้องกันไว้

๕. อะยะสัง วิโนเทติ ย่อมบรรเทาเสียซึ่งสิ่งมิใช่ยศ หมายความว่า บุคคลผู้ได้ฌานและมีกำลังฌานที่เข้มแข็ง ย่อมสามารถควบคุมจิตใจที่ทะเยอทะยานให้สงบระงับได้ ไม่แสวงหายศถาบรรดาศักดิ์ในทางที่ไม่ชอบธรรม แม้ยศศักดิ์ที่มีอยู่แล้ว ก็ใช้เฉพาะในทางที่ชอบธรรมเท่านั้น ฉะนั้น จึงไม่ต้องประสบกับสภาพที่ไม่ใช่ยศ คือ คำติฉินนินทา หรืออาชญาต่าง ๆ ในทางบ้านเมือง หรือในทางศาสนา

๖. ยะสะมุปะเนติ ย่อมนำมาซึ่งความมียศ หมายความว่า เมื่อบุคคลผู้ได้ฌาน สามารถควบคุมพฤติกรรมต่าง ๆ ของตนให้เป็นไปในทางที่ดีงามแล้ว ย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญจากกัลยาณชนทั้งหลายว่า เป็นผู้มีคุณธรรมสูง ควรเทิดทูนบูชา ยศศักดิ์ที่มีอยู่แล้วก็จะคงอยู่ ยศศักดิ์ที่ยังไม่เกิด ย่อมจะเกิดขึ้นได้โดยชอบธรรม บุคคลนั้นย่อมรักษายศไว้ได้และใช้ยศศักดิ์นั้นให้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ตนเองและบุคคลทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้ไม่มัวเมาในยศและสร้างความอัปยศให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด

๗. ธัมเมสุ อะระติง นาสะยะติ ย่อมทำลายความไม่ยินดีในธรรมให้เสื่อมสิ้นไป หมายความว่า บุคคลผู้ได้ฌานและมีกำลังฌานที่เข้มแข็งอยู่เสมอ ย่อมสามารถข่มกิเลสนิวรณ์ให้สงบราบคาบ ไม่สามารถแสดงปฏิกิริยากำเริบออกมาได้ บุคคลนั้น ย่อมเป็นอิสระแก่ตนเอง ไม่ตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาที่หยาบช้า จิตใจย่อมสงบเยือกเย็น มีสมาธิหล่อเลี้ยงอยู่เสมอ มีจิตใจที่มั่นคงเข้มแข็ง ย่อมทำลายความไม่ยินดีในธรรมให้หมดไปได้

๘. ธัมเมสุ ระติง อุปปาเทติ ย่อมยังความยินดีในธรรมให้เกิดขึ้น หมายความว่า เมื่อบุคคลตั้งมั่นอยู่ในฌานด้วยดีแล้ว ย่อมมีความสงบเยือกเย็น มีความคิดอ่านที่ละเอียดลึกซึ้ง ย่อมยังความยินดีร่าเริงอาจหาญในธรรมให้เกิดขึ้นและหล่อเลี้ยงความยินดีในธรรมนั้นให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป

๙. ภะยัง ตะปะเนติ ย่อมกำจัดเสียซึ่งภัยพิบัติทั้งปวง หมายความว่า เมื่อบุคคลผู้ได้ฌานสมาบัติและมีกำลังฌานที่เข้มแข็งอยู่เสมอแล้ว กิเลสอย่างหยาบทั้งหลาย ย่อมสงบลง ไม่ล่วงละเมิดออกมาทางกายทางวาจา เมื่อเป็นเช่นนี้ โทษที่จะเกิดจากการกระทำความชั่วต่าง ๆ ก็ไม่เกิดขึ้นในภพชาติปัจจุบัน เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว ไปเกิดในพรหมโลก ย่อมหลุดพ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง เนื่องจากพรหมโลก เป็นโลกแห่งความสงบสุข ไม่มีความวุ่นวายในเรื่องอาชญากรรมทั้งปวง

๑๐. เวสารัชชัง กะโรติ ย่อมทำให้เกิดความแกล้วกล้า หมายความว่า บุคคลที่ได้ฌานและมีกำลังฌานที่เข้มแข็งอยู่เสมอนั้น สามารถควบคุมจิต ควบคุมความรู้สึกให้อยู่ในแนวทางที่ดี ไม่ล่วงละเมิดสิ่งที่เป็นโทษทั้งปวง เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นผู้ที่มีความอาจหาญในสังคมไม่ต้องหวาดระแวงว่าผู้ใดจะมายกโทษโจทย์ขานในเรื่องที่ไม่ดีไม่งามต่าง ๆ ได้

๑๑. โกสัชชะมะปะเนติ ย่อมขจัดเสียซึ่งความเกียจคร้าน หมายความว่า บุคคลที่ได้ฌานและมีกำลังฌานที่เข้มแข็งนั้น สามารถข่มกิเลสนิวรณ์ต่าง ๆ มีถีนะมิทธะ เป็นต้นที่เป็นเหตุทำให้เกิดความเกียจคร้านไว้ได้ ย่อมเป็นอิสระแก่ตนเอง ทั้งเป็นผู้มีความมุ่งมั่นในกิจต่าง ๆ ที่เป็นไปโดยชอบธรรม โดยไม่ถูกความเกียจคร้านเข้าครอบงำแต่ประการใด

๑๒. วิริยะมะภิสัชชาเนติ ย่อมจัดแจงให้เกิดความเพียร หมายความว่า บุคคลผู้ได้ฌานและมีกำลังฌานที่เข้มแข็งอยู่เสมอนั้น ย่อมเป็นอิสระแก่ตนเอง ไม่ถูกกิเลสอย่างหยาบและอย่างกลางเข้าครอบงำ มีกำลังสมาธิหล่อเลี้ยงจิตใจให้แช่มชื่นเบิกบานอาจหาญอยู่เสมอ สามารถปรารภความเพียรในกิจการงานที่ชอบธรรมได้อย่างต่อเนื่อง

๑๓. ราคะมะปะเนติ ย่อมขจัดเสียซึ่งราคะ หมายความว่า บุคคลที่ได้ฌานและมีกำลังฌานที่เข้มแข็งนั้น ความกำหนัดยินดีด้วยอำนาจแห่งราคะ ย่อมถูกข่มทับไว้ ไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาทางใจอันเป็นเหตุให้ล่วงละเมิดออกมาทางกายทางวาจาได้ ย่อมเป็นผู้มีจิตใจปลอดโปร่งโล่งเบาสบาย ไม่หนักหน่วงด้วยอำนาจแห่งกามราคะ

๑๔. โทสะมะปะเนติ ย่อมขจัดเสียซึ่งโทสะ หมายความว่า บุคคลที่ได้ฌานและมีกำลังฌานที่เข้มแข็งอยู่เสมอนั้น ความโกรธความอาฆาตพยาบาทจองเวรต่าง ๆ ด้วยอำนาจแห่งโทสะ ย่อมถูกข่มทับไว้ไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาทางใจอันเป็นเหตุให้ล่วงละเมิดออกมาทางกายวาจาซึ่งเป็นกิริยาชั่วหยาบได้ ย่อมเป็นผู้สงบเยือกเย็น น่าเคารพนับถือ น่าเกรงขาม

๑๕. โมหะมะปะเนติ ย่อมขจัดเสียซึ่งโมหะ หมายความว่า บุคคลที่ได้ฌานและมีกำลังฌานที่เข้มแข็งนั้น ความหลงความงมงายด้วยอำนาจแห่งโมหะ ย่อมถูกตัดกำลังให้บรรเทาเบาบางลง เนื่องจากขาดแรงสนับสนุนจากกิเลสนิวรณ์ทั้งปวง เพราะโมหะหรืออวิชชาจะมีกำลังแรงกล้าได้นั้น เนื่องจากได้แรงสนับสนุนจากกามฉันทะ โทสะ ถีนะ มิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะและวิจิกิจฉา แต่เมื่อกิเลสเหล่านี้ ถูกข่มทับไว้แล้ว โมหะจึงอ่อนกำลังลง ส่วนวิชชา คือ ความรู้แจ้งในสิ่งต่าง ๆ เมื่อได้กำลังสนับ สนุนจากสมาธิในฌานหล่อเลี้ยงดีแล้วย่อมเกิดขึ้นแทนที่และมีกำลังเข้มแข็งมากขึ้น

๑๖. มานะมะปะเนติ ย่อมขจัดเสียซึ่งมานะ หมายความว่า บุคคลที่ได้ฌานและมีกำลังฌานที่เข้มแข็งนั้น ความเย่อหยิ่งถือตัว ความจองหองลำพองตนด้วยอำนาจแห่งมานะ ย่อมถูกตัดกำลังให้บรรเทาเบาบางลง เนื่องจากขาดแรงสนับสนุนจากกามฉันทนิวรณ์ คือ ความกำหนัดยินดีในกาม ที่ทำให้เกิดความดิ้นรนทะเยอทะยานและเกิดการแข่งดีแข่งเด่นกันในเรื่องกาม แต่เมื่อกามฉันทนิวรณ์นี้ ถูกข่มทับไว้แล้วด้วยอำนาจแห่งฌาน มานะจึงอ่อนกำลังลง อนึ่ง เมื่อได้กำลังแห่งสมาธิในฌานหล่อเลี้ยงจิตใจเป็นอย่างดีแล้ว ย่อมทำให้เกิดความเอิบอิ่มและมีความสันโดษมักน้อย ยินดีในของที่ตนได้พอใจในสิ่งที่ตนมี อันเป็นเหตุให้คลายมานะลงไปได้

๑๗. สะวิตักกัง วัชเชติ ย่อมเว้นเสียซึ่งจิตที่ประกอบด้วยวิตกมากเกินไป หมายความว่า เมื่อบุคคลได้ฌานและมีกำลังฌานที่เข้มแข็งอยู่เสมอนั้น ทำให้จิตมีความแนบแน่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ตรึกพล่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ มากเกินไป สามารถประคับประคองจิตให้มีความยั้งคิดได้อย่างรอบคอบ ตัดความคิดฟุ้งซ่านวิตกกังวลเสียได้

๑๘. จิตเตกัคคัง กะโรติ ย่อมทำจิตให้เป็นเอกัคคตา หมายความว่า เมื่อบุคคลนั้นมีกำลังฌานที่เข้มแข็งแล้ว ความแนบแน่นแห่งสมาธิจิตย่อมประณีตขึ้นตามลำดับ สามารถที่จะหยุดยั้งความคิดที่พล่านไปในกามคุณอารมณ์ทั้งหลายอันน่าใคร่น่าปรารถนาน่ายินดี ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อเอกัคคตานั้นเสียได้

๑๙. จิตตัง เส๎นหะยะติ ย่อมยังจิตให้รักใคร่ในความสงัด หมายความว่า เมื่อบุคคลนั้นมีกำลังฌานที่เข้มแข็งแล้ว จิตที่เคยดิ้นรนทะเยอทะยานก็สงบลง เมื่อเสพคุ้นอยู่ในสมาธินั้นบ่อย ๆ ย่อมทำให้จิตน้อมไปในความสงัด ยินดีพอใจในวิเวกทั้ง ๓ คือ กายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก [ความสงบจากกิเลส]

๒๐. หาสัง ชาเยติ ย่อมให้บังเกิดความรื่นเริงบันเทิงใจในธรรม หมายความว่า เมื่อบุคคลนั้นมีกำลังฌานที่เข้มแข็งแล้ว สมาธิจิตย่อมมีความประณีตยิ่งขึ้น ทำให้คลายจากความมัวเมาหลงใหลในกามารมณ์ต่าง ๆ แล้วยังความยินดีร่าเริงในธรรมให้เกิดขึ้นแทนและพอกพูนให้เจริญยิ่งขึ้นไปได้

๒๑. ปีติง อุปปาทะยะติ ย่อมให้บังเกิดปีติความเอิบอิ่มใจ หมายความว่า เมื่อบุคคลนั้นเป็นผู้มีกำลังฌานที่เข้มแข็งแล้ว ย่อมคลายจากความมัวเมาด้วยอำนาจแห่งกิเลส สามารถหยุดยั้งความคิดและควบคุมจิตใจของตนเองให้อยู่ในแนวทางแห่งความดีได้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อเป็นเช่นนี้ ปีติ คือ ความเอิบอิ่มใจและความปลอดโปร่งโล่งใจย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น

๒๒. ครุกัง กะโรติ ย่อมกระทำให้เป็นผู้หนักแน่น หมายความว่า เมื่อบุคคลนั้นมีกำลังฌานที่เข้มแข็งแล้ว ย่อมสามารถควบคุมจิตใจให้อยู่ในคุณงามความดี เป็นคนสุขุมเยือกเย็น มีจิตใจที่ประณีต มีกิริยาอาการน่าเคารพเกรงขาม ย่อมเป็นผู้ที่น่ารักน่าเลื่อมใสของบุคคลทั้งหลายที่ได้พบเห็น

๒๓. ลาภัง นิพพัตตะยะติ ย่อมยังลาภสักการะให้เกิดขึ้นโดยชอบธรรมได้ หมายความว่า เมื่อบุคคลนั้นมีกำลังฌานที่เข้มแข็งแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่มีจิตใจสงบเยือกเย็น มีจิตใจเข้มแข็งหนักแน่น สามารถวางตนให้เหมาะสมกับกาละ เทศะ บุคคล และประชุมชนได้ บุคคลทั้งหลายที่ได้ประสบพบเห็นหรือคบหาสมาคมด้วย ย่อมเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในบุคคลนั้น ย่อมน้อมนำลาภสักการะเข้าไปถวายเพื่อบูชาคุณของบุคคลนั้นผู้มีปกติอยู่ด้วยพรหมวิหารธรรม ทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยลาภสักการะที่เกิดขึ้นโดยชอบธรรมอยู่เนืองนิตย์

๒๔. มะนาปิยัง กะโรติ ย่อมทำตนให้เป็นที่รักของชนเหล่าอื่น หมายความว่า เมื่อบุคคลนั้นมีกำลังฌานที่เข้มแข็งแล้ว ย่อมสามารถควบคุมกิริยามารยาทของตนเองให้งดงามอยู่เสมอ ไม่ตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาอันจะทำให้เป็นผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปในทางที่ไม่น่าปรารถนาต่าง ๆ ย่อมเป็นผู้มีความสุขุมเยือกเย็น เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายสิ้นกาลนาน

๒๕. ขันติ ปาเลติ ย่อมรักษาความอดทนอดกลั้นไว้ได้ดี หมายความว่า เมื่อบุคคลนั้นมีกำลังฌานที่เข้มแข็งแล้ว ย่อมสามารถอดทนอดกลั้นต่อความลำบากนานัปประการ ได้แก่ อดทนต่อความลำบากในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองก็ดี อดทนต่อความตรากตรำในกิจการงานที่หนักหน่วงและเหน็ดเหนื่อยก็ดี หรืออดทนต่อความเจ็บใจอันเป็นตัวโทสะ [ซึ่งถูกข่มทับจนสงบราบคาบทั้งหมดแล้วด้วยกำลังแห่งฌาน] ก็ดี เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้ที่บริบูรณ์ด้วยขันติธรรม ซึ่งเป็นตบะอย่างยอดเยี่ยมของสัตบุรุษทั้งหลาย มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น

๒๖. สังขาเรสุ อาสะวัง ธังสะติ ย่อมกำจัดเสียซึ่งอาสวะในสังขารธรรมทั้งหลาย หมายความว่า เมื่อบุคคลนั้นมีกำลังฌานที่เข้มแข็งแล้ว กามาสวะ ความหมักหมมในเรื่องกามก็ดี ภวาสวะ ความหมักหมมในเรื่องยศตำแหน่งหรือสถานภาพต่างๆ ก็ดี ทิฏฐาสวะ ความหมักหมมในความเห็นผิดก็ดี และอวิชชาสวะ ความหมักหมมในเรื่องความโง่ความไม่รู้ต่าง ๆ ก็ดี ย่อมสงบระงับดับหายไป [ตามสมควร] เพราะกำลังแห่งฌานทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้มีจิตใจแนบแน่นไม่คิดพล่านดิ้นรนไปในอารมณ์ต่าง ๆ จนเกินไป ย่อมสามารถประหาณอาสวธรรมนั้นได้โดยวิกขัมภนปหาน

๒๗. ภะวะปฏิสันธิง อุคฆาเฏติ ย่อมเพิกถอนเสียซึ่งการเกิดในภพใหม่ หมายความว่า เมื่อบุคคลนั้นมีกำลังฌานที่เข้มแข็งและสามารถเข้าฌานสมาบัติได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว เมื่อออกจากฌานแล้ว ย่อมสามารถทำการพิจารณาองค์ฌานซึ่งเป็นนามธรรมนั้นให้เห็นโดยความเป็นไตรลักษณ์ได้ ถ้าเป็นผู้มีบุญญาธิการได้สั่งสมมาดีแล้วในหนทางแห่งมรรคผล ย่อมสามารถทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนั้น ก็สามารถบรรลุถึงความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่าง ๆ ได้

๒๘. สันนัง สามัญญัง เทติ ย่อมให้ผลแห่งความเป็นสมณะ หมายความว่า เมื่อบุคคลนั้น เป็นผู้มีกำลังฌานที่เข้มแข็งแล้ว ย่อมสามารถควบคุมจิตใจมิให้ตกไปในอำนาจของกิเลสได้ และสามารถข่มทับกิเลสนิวรณ์ทั้งหลายไม่แสดงปฏิกิริยากำเริบออกมาได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว บุคคลนั้นก็สามารถประพฤติพรหมจรรย์ได้อย่างบริสุทธิ์หมดจดและเจริญในคุณธรรมทั้งหลายยิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่มีการเสื่อมถอยจากสมณะพรหมจรรย์นั้นเลย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |