| |
จำแนกกามาวจรโสภณจิตโดยบุคคล   |  

มหากุศลจิต ๘ ย่อมเกิดได้ในปุถุชน ๔ [คือ ทุคติบุคคล สุคติอเหตุกบุคคล ทวิเหตุกบุคคลและติเหตุกปุถุชน] และพระเสกขบุคคล ๓ [พระโสดาบัน พระสกทาคามีและพระอนาคามี] หมายความว่า มหากุศลจิต ๘ นี้ สามารถเกิดได้กับปุถุชนทั้งหลาย ทั้งที่เป็นอบายสัตว์ ๔ [คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน เรียกว่า ทุคติบุคคล] และสุคติอเหตุกบุคคลในกามภูมิ ทวิเหตุกบุคคลในกามภูมิ ติเหตุกปุถุชนและพระเสกขบุคคล ๓ ในทุกภูมิที่มีบุคคลเหล่านี้เกิดอยู่

มหาวิบากญาณวิปปยุตตจิต ๔ ดวง ย่อมเกิดได้เฉพาะกับสุคติอเหตุกบุคคล [ขณะทำหน้าที่ตทาลัมพนะเท่านั้น] และในทวิเหตุกบุคคล [ขณะทำหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติและตทาลัมพนะตามสมควร] หมายความว่า มหาวิปากจิตที่เป็นญาณวิปปยุตตจิต ๔ ดวงนี้ ทำหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์และจุติของพวกทวิเหตุกบุคคลในกามสุคติภูมิ ๗ และทำหน้าที่ตทาลัมพนะของสุคติอเหตุกบุคคล ทวิเหตุกบุคคล ติเหตุกบุคคลและอริยบุคคล ๔ ได้ทั้ง ๗ บุคคล ในกามสุคติภูมิ ๗

มหาวิบากญาณสัมปยุตตจิต ๔ ดวง ย่อมเกิดได้กับติเหตุกปุถุชน ๑ และพระอริยบุคคล ๔ [พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์] เฉพาะในกามสุคติภูมิ ๗ เท่านั้นโดยทำหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และตทาลัมพนะตามสมควร หมายความว่า มหาวิบากญาณสัมปยุตตจิต ๔ ดวงนี้ ย่อมเกิดได้กับบุคคลที่เป็นติเหตุกปุถุชน และพระอริยบุคคล ๔ ที่เกิดอยู่ในกามสุคติภูมิ ๗ เท่านั้น โดยทำหน้าที่ในฐานะปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ เพียงบุคคลละ ๑ ดวงเท่านั้น ส่วนที่ทำหน้าที่ ตทาลัมพนะนั้น สามารถเกิดได้แก่บุคคลเหล่านั้นทั้ง ๔ ดวง

มหากิริยาจิต ๘ เกิดได้กับพระอรหันต์ ใน ๒๖ ภูมิ คือ กามสุคติภูมิ ๗ รูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] และอรูปภูมิ ๔ หมายความว่า มหากิริยาจิต ๘ ดวงนี้ ย่อมเกิดได้กับพระอรหันต์ที่อยู่ในทุกภพภูมิ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |